กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย ดร.เทพีวรรณ จิตรวัชรโกมล ผู้อำนวยการกองวัสดุและวิศวกรรม ผู้แทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมงานพร้อมนำหุ่นยนต์ซึ่งเป็นผลงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมจัดแสดงในงาน Thailand Robotics Week 2017 และการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia-Pacific 2017 (RCAP 2017) ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา วันที่ 14 ธันวาคม 2560
ดร.เทพีวรรณฯ กล่าวว่า ตามที่นโยบายประเทศไทยมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม Thailand 4.0 ผสมผสานด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในส่วนของกลุ่มงานกองวัสดุและวิศวกรรม มีความพร้อมในส่วนงานทางด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งมีการดำเนินงานมามากกว่า 10 ปี โดยเน้นทางด้านวิจัยและพัฒนา เรามีผลงานที่เป็นรูปธรรมอยู่มากมายเพื่อใช้ในงานวิจัยและสำรวจ ในงานอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการแพทย์อีกด้วย
ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เจ้าของผลงานวิจัยฯ กล่าวว่า ผลงานที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย เรืออัตโนมัติสำหรับงานสำรวจและเก็บข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผลงานที่ทำออกมาได้ใช้ประโยชน์จริง ซึ่งหน่วยงานหลักที่ทำงานร่วมกันคือ สสนก. เป็นผลงานที่ต่อยอดจากเดิมโดยนำมาปรับขนาดให้กะทัดรัดคล่องตัวในการใช้งาน เป็นเรือสีชมพูโดยใช้บุคลากรเพียงแค่ 1-2 คนในการปฏิบัติก็จะได้ข้อมูลตามที่เราต้องการ อย่างที่เราทราบก็คือข้อมูลทางด้านน้ำในประเทศยังน้อยมาก การใช้อุปกรณ์แบบนี้จะทำให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างแม่นยำและในระยะเวลารวดเร็ว เช่น ความลึกของน้ำ ความลึกของอ่างเก็บน้ำ ความลึกของเขื่อน เป็นต้น เพื่อจะได้นำข้อมูลไปดำเนินการในด้านการบริหารจัดการน้ำต่อไป
ผลงานที่2 คือ รถขนส่งในโรงพยาบาลขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือเรียกอีกอย่างว่า AGV เป็นผลงานที่ต่อยอดจากผลงานที่เคยทำ มาปรับโฉมให้ทันสมัยเหมาะกับงานด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการขนส่งในส่วนของโรงพยาบาลที่มีความต้องการอย่างมาก ระบบการทำงานจะใช้เซ็นเซอร์นำทางและบอกตำแหน่งของรถเพื่อที่จะควบคุมระบบ ตอนนี้มีหน่วยงานที่สนใจมากมาย อาทิ รพ.วชิรพยาบาล รพ.จุฬาฯ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่สนใจก็มีการติดต่อเข้ามาเพื่อจะนำไปต่อยอดในด้านของอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น
ผลงานชิ้นที่ 3 คือ รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง สกว. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน ซึ่งความคิดหลักของเรา คือ ปัจจุบันเวลาส่งของในพื้นที่โรงงานถ้าเป็นพวกอุปกรณ์ชิ้นเล็กก็จะมีหุ่นยนต์ตัวเล็กใช้งานอยู่แล้ว แต่การขนส่งระดับใหญ่ที่มีน้ำหนัก 1.5 ตัน - 2 ตัน ขึ้นไป ยังไม่ค่อยมีการคิดค้นในเรื่องนี้ เลยใช้จุดนี้ทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะให้สามารถขนส่งโหลดสิ่งของชิ้นใหญ่ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถบรรทุกสิ่งของหนักได้ถึง 2.5 ตัน โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์ในการควบคุม สามารถจะลดภาระด้านขนส่งสินค้าเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการได้