กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กทปส.
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. หน่วยงานในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. มุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการ ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมระบบทางด้านการศึกษา โดยได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ ในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่ายุคของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาค ส่งผลต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายรูปแบบ อาทิ บุคลากร ระบบการจัดการ นักเรียน โดยทุกอย่างจะต้องทำงานสอดคล้องกันและต้องก้าวให้ทันต่อเทคเทคโนโลยีที่มีการก้าวกระโดดอย่างสูง การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบนับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถที่ดีมากสำหรับ ระบบการศึกษา และนับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จ เพื่อเป็นการรองรับเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงต้องมีการสร้างต้นแบบ ร่างแบบ แนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวในการออกแบบต้นแบบทางด้านการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดการจัดสรรระบบที่มีคุณภาพสูงสุด และนับเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการพัฒนา
ด้านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินการโดยเดินทางไปที่อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อรับฝังผลการดำเนินงานจากผู้แทนโรงเรียนเชียงของวิทยาคมและผู้แทนโรงเรียนเทิงวิทยาคมโดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยพัฒนาระบบ Digital Administration สำหรับงานบริหารจัดการหลักของโรงเรียน และพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้เป็นต้นแบบในการใช้ระบบ Digital Administration รวมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนการสอนของโรงเรียนในชนบท ให้รองรับศตวรรษที่ 21 (Digital Teaching & Learning Support System) โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินมา 7 เดือน ทั้งนี้มีโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 โรงเรียน โดยเป็นโครงการบริเวณส่วนกลางของจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนบริเวณชายแดนไทย-พม่า และ ไทย-ลาว
ระบบ Digital Administration ที่กำลังพัฒนาในขณะนี้ประกอบด้วย ระบบ e-Office (ระบบงานสารบรรณ) ระบบ e-Money (ระบบงานการเงินและบัญชี) ระบบ e-Material (ระบบงานพัสดุ) ระบบ e-Folio (ระบบงานประวัติผลงาน) ระบบ e-Executive (ระบบผู้บริหาร) และระบบ e-Student (ระบบงานนักเรียน) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยการวิเคราะห์และออกแบบระบบต่าง ๆ จะทำโดยผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนในโครงการ ที่มีความรอบรู้ในสายงานต่าง ๆ และเป็นผู้ปฎิบัติงานจริง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่ออกแบบจะตอบสนองกับการใช้งานและเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆได้
ทั้งนี้คณาจารย์จากสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้การฝึกอบรมคณะผู้แทนครูดังกล่าวในการวิเคราะห์และพัฒนาระบบ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงในการวิเคราะห์ออกแบบระบบด้วย นอกจากการพัฒนาระบบ Digital Administration แล้ว ในโครงการยังมีการพัฒนา Digital Literacy ให้กับครูในโครงการ โดยในขั้นต้นได้มีการอบรมการใช้ Software ที่สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้รองรับกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ (21th Century Teaching / Learning ) โดยเป้าหมายหนึ่งของโครงการคือการสร้างชุมชนดิจิตอลแห่งการเรียนรู้ (Digital Learning Community of Practice) เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ และการพัฒนาร่วมกัน ในการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป
ดังนั้น โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาที่จะเข้าถึงนักเรียนและผู้ปกครองในชนบทมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในเชิงสังคม เกิดการพัฒนาในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ทำให้ในระดับท้องถิ่นเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการศึกษา การต่อยอดให้เกิดการนำข้อมูลทางด้านการศึกษามาพัฒนาให้เกิดหลักสูตรที่ทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นการพัฒนากรอบป้องการการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดต่อ นักเรียน นักศึกษา ผ่านกลไกจากกองทุนฯ ที่ต้องการผลักดันสงเสริมในเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ โครงการการมอบทุนในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวในการพัฒนางานด้านการศึกษาให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน