ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตกระตุ้นการขยายตัวของภาคธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 19, 2017 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตซึ่งอยู่ในระดับคงตัว ยังคงหนุนให้ตลาดประกันภัยของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปและการดำเนินนโนบายของรัฐบาลที่มุ่งเพิ่มความคุ้มครองทั้งแบบส่วนบุคคลและหลังเกษียณ สร้างโอกาสอันดีให้แก่บริษัทประกันภัยต่างๆ จากข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย เบี้ยประกันภัยมีมูลค่ารวม 4.41 แสนล้านบาท (1.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในสามไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลตลาดประกันภัย ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท (1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตลอดทั้งปี และยังสูงกว่าการคาดการณ์ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้อยู่ที่รอยละ 3.8% อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน คปภ. ได้คาดการณ์ไว้ว่าเบี้ยประกันภัยจากผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6% โครงสร้างประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดประกันภัย อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นข่าวดีสำหรับรัฐบาลไทย ซึ่งได้ดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางประชากรของประเทศ ตามประมาณการล่าสุดของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนของปีก่อน ประชากรไทยร้อยละ 25 จะมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. 2583 ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2553 ประชากรสูงวัยมีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในภูมิภาค ในเวลาเดียวกัน จำนวนคนไทยที่ยังคงอยู่ในวัยแรงงานจะลดลง 10% เมื่อถึง ค.ศ. 2040 ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้เสียภาษีที่ลดน้อยลงตามไปด้วย สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้รัฐได้มีรายได้ที่จะนำไปสนับสนุนประชากรวัยเกษียณน้อยลง ในยามที่ความต้องการบริการทางสาธารณสุขและสังคมเพิ่มสูงขึ้น จากการคาดการณ์ขององค์กรในภาครัฐ เงินอุดหนุนจากภาครัฐต่อกองทุนเพื่อการเกษียณต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงกองทุนสำหรับข้าราชการ จะต้องเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 140 ระหว่างปี พ.ศ. 2559และปี พ.ศ. 2567 โดยต้องสำรองไว้ให้ถึง 6.98 แสนล้านบาท (2.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลักษณะทางประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทประกันภัย ตามความเห็นของ นายไมเคิล แพล็กซ์ตัน ประธานคณะกรรมการบริหารแห่งบริษัทประกันภัย เอฟดับบลิวดี กรุ๊ป "ประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเป็นตลาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครเข้าครอบครอง ในฐานลูกค้าที่มีอยู่ มีกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น" นายไมเคิล กล่าวกับโอบีจี "อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนักในการลงทุนในสินค้าตัวใหม่ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มคนสูงวัย" กองทุนเพื่อการเกษียณภาคบังคับจะช่วยเพิ่มสภาพคลองให้ตลาดทุน ถึงแม้ว่าประชากรสูงวัยของไทยจะเพิ่มภาระให้กับทรัพยากรของรัฐ แต่ในอีกทางก็เป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในขณะที่บริษัทประกันภัยมองหาโอกาสการลงทุนในเบี้ยประกัน สิ่งที่จะตามมาก็คือตลาดทุนมีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการเปิดตัวกองทุนเพื่อการเกษียณภาคบังคับในปีหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐเพื่อรับมือการแรงงานที่กำลังเข้าสู่ช่วงสูงวัย ภายใต้ข้อเสนอซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะต้องสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบบังคับ อัตราการสมทบจะเริ่มต้นที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือนของลูกจ้าง ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ภายใน 10 ปี อัตราขั้นสูงของการสมทบจะอิงตามเงินเดือนที่อัตรา 60,000 บาท (1,840 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อเดือน ในขณะที่นายจ้างซึ่งลูกจ้างมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท (307 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อเดือนจะต้องจ่ายเงินสมทบแทนลูกจ้าง ในช่วงแรกๆ แผนนี้จะบังคับใช้เฉพาะกับบริษัทที่มีลูกจ้างอย่างน้อย 100 คน โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะค่อยๆ นำไปปรับใช้กับบริษัทขนาดเล็กลงมาภายในระยะเวลา 7 ปี บริษัที่มีระบบกองทุนเพื่อการเกษียณเองอยู่แล้วจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในช่วงแรก อย่างไรก็ดี ในอนาคตบริษัทเหล่านี้อาจต้องเพิ่มเงินสมทบเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากกองทุนใหม่นี้ ถึงแม้ว่าแผนนี้จะทำให้แรงงานทั้งหมดในระบบมีประกันภาคบังคับ แต่คนไทยจำนวนมากซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ตลอดจนผู้ทำงานอิสระและผู้ที่ทำธุรกิจในครอบครัว จะไม่ได้รับการคุ้มครองในแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ นอกจากนี้ การปฏิรูปที่เสนอมานี้จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะเพิ่มภาระเรื่องค่าจ้างและภาษีทันที่ทีแผนดังกล่าวดำเนินไปถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ "บริษัทต่างๆ ควรทบทวนโครงสร้างการจ่ายเงินสมทบ เพราะอาจส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นสำหรับบริษัที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่าร้อยละ 3" นางสาว ประภัสสร ชัยกิจ ผู้อำนวยการแห่ง วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน บริษัทให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ กล่าวแก่สื่อท้องถิ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ข้อมูลเศรษฐกิจไทยฉบับนี้ผลิตโดย อ๊อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ