ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อ “ค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมเฉลิมพระเกียรติ” กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(สสวทท) และ คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช โดยการสนับสนุนของบริษัท

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday September 19, 2007 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) และ คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช โดยการสนับสนุนของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ค้นหาสุดยอดฝีมือแรงงานด้านการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมระดับชาติ มุ่งพัฒนาช่างโทรคมนาคมให้มีคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน และประการสำคัญเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ภายใต้ชื่อโครงการ “ค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมเฉลิมพระเกียรติ”
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะส่งเสริมฝีมือแรงงานไทยในทุกแขนงให้ มีคุณภาพ มีความรู้ มีความชำนาญและได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมนานาชาติ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน โครงการ “ค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมเฉลิมพระเกียรติ” ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(สสวทท) และ คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช โดยการสนับสนุนของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมพัฒนาฯ มีความภูมิใจ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านสถานที่และความสะดวกในการจัดการแข่งขันในแต่ละจังหวัด การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันประกอบและติดตั้งจานดาวเทียม ซึ่งยังไม่มีองค์กร หรือหน่วยงานใดเคยจัดมาก่อน และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาศักยภาพการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้ผู้แข่งขันได้เร่งพัฒนาฝีมือของตนเองด้วย
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานสภามนตรี สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช
กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้ร่วมโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่ทุกฝ่ายจะได้รับ ผู้ประกอบอาชีพฝีมือแรงงานจะได้พัฒนาความรู้ ความชำนาญ ให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป จะได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพประทับใจ ดังนั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันติดตั้งจานดาวเทียมระบบ KU-BAND และ C-BAND ในครั้งนี้จะต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากความรวดเร็วในการติดตั้ง ความถูกต้องในการติดตั้ง และการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม รวมถึงการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทางคณะกรรมการกำหนดขึ้นด้วย
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้การสนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ความสำคัญแก่โครงการฯ นี้เป็นอย่างมาก เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้าถึงประชาชนในวิชาชีพต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้แรงงานของชาติได้พัฒนาสู่ความทัดเทียมนานาชาติ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) และคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ทุกองค์กรมีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักคิด นักพัฒนาระดับโลก ได้พระราชทานแนวคิด แนวทางพัฒนาแก่พสกนิกรชาวไทยในโอกาสต่างๆเสมอมา โครงการนี้จึงยึดถือแนวพระราชดำริ โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาทั้งความรู้ ความชำนาญ และเป็นเวทีให้ช่างติดตั้งที่มีฝีมือได้แสดงผลงานของตนเอง เป็นการกระตุ้นให้ช่างได้พัฒนาทั้งด้านความรู้ ความชำนาญ ความขยันและความอดทน เพื่อยกระดับมาตรฐานของอาชีพช่างให้สูงขึ้นๆ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว
“ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่กลุ่มบริษัทสามารถก่อตั้งมา เราเริ่มธุรกิจแรกคือเสาอากาศ และจานดาวเทียม ทำให้มีความรู้ และความชำนาญในธุรกิจนี้ และมองว่าตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ตลาดแรงงานด้านนี้เป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วย ดั้งนั้นจึงต้องมีการพัฒนาฝีมือทั้งทางด้านเทคนิคต่างๆให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯให้การสนับสนุนตลาดแรงงานด้านนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยเมื่อปี 2546 บริษัทฯ ได้ก่อตั้ง “โรงเรียนช่างสามารถ” ขึ้น เพื่อผลิตช่างฝีมืออาชีพใน
การติดตั้งเสาอากาศ และจานดาวเทียม ไปแล้วหลายร้อยคน ด้วยเนื้อหาหลักสูตรที่เข้มข้น มีภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง”
การแข่งขัน
การแข่งขันแบ่งเป็น 5 โซน คือโซน A เขตภาคเหนือ โซน B เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โซน C เขตภาคกลาง โซน D เขตภาคเหนือตอนล่าง และโซน E เขตภาคใต้ โดยรอบคัดเลือก ผู้สมัครทุกคนที่ยื่นใบสมัครจะต้องเข้าทดสอบรอบคัดเลือกในภาคทฤษฎี ตามวันและเวลาที่ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด และคัดเลือกแต่ละโซนให้เหลือโซนละ 20-30 คน จากนั้นผู้ที่ผ่านรอบคัดเลือกจะต้องเข้าชิงสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมในภาคปฎิบัติ เพื่อหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมระดับภาค และผู้ผ่านเข้ารอบลำดับ 1-3 ของแต่ละภาค จะเข้ามาชิงชัยเพื่อค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมเฉลิมพระเกียรติเพียงหนึ่งเดียว
รางวัล
รางวัล ”สุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมระดับประเทศ” จะได้รับเงินสด 50,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมของรางวัลอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งเกียรติบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติให้เข้ารับโล่พระราชทานในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ บริเวณมลฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย
การสมัคร
สำหรับผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเสาอากาศและจานดาวเทียมของ“สามารถ” ในเขตจังหวัดต่างๆ และที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด / โรงเรียนช่างสามารถโทรคมนาคม โทร 0-2516-1188 หรือที่ www.samart-eng.com ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2550 ถึง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม PR.Corp.
วรรษกร ปลื้มจิตต์ (ตุ๊ก) โทร. 0-2502-8687
วทิรา ลุยากร (ใหม่) โทร.0- 2502-8236

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ