กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย//การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีปริมาณ 32.5 ล้านตัน มีมูลค่า 1ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.5 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะส่งออกได้ 33.0 ล้านตัน มูลค่า 1.03 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักหลายรายการลดลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลัง และน้ำผลไม้ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาททำให้มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลง แม้ว่ามูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์จะยังขยายตัวในอัตราร้อยละ 10.0
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น 13.5% อาเซียนเดิม 11.6% สหรัฐอเมริกา 10.6%, แอฟริกา 9.3% จีน 9.0% สหภาพยุโรป 6.0% ตะวันออกกลาง 4.2% โอเชียเนีย 3.3% สหราชอาณาจักร 3.0% และเอเชียใต้ 1.6% โดยตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ยกเว้น ตลาดอาเซียนเดิม(ASEAN-5) ลดลงร้อยละ 10.7 ตามปริมาณการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่ลดลง สหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 2.3 จากการส่งออกสับปะรดกระป๋อง และปลาทะเลแช่แข็งที่หดตัวลง และสหราชอาณาจักร ลดลงร้อยละ 10.9 จากการเผชิญภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแข็งค่าของค่าเงินปอนด์เทียบบาท
"แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักหลายรายการจะชะลอตัวลง แต่ก็มีสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ๆ ที่ขยายตัวสูงและคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าดาวเด่นของไทยในอนาคต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดไม่รวมผลิตภัณฑ์มะพร้าว ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 72,340 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีล่าสุด(+23%) เครื่องดื่มชูกำลัง 22,520ล้านบาท (+10%) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 13,533 ล้านบาท (+11%) นม 10,469 ล้านบาท (+6%) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่รวมวิตามิน 3,201 ล้านบาท (+6%)และไอศกรีม 2,122 ล้านบาท(+5%) โดยสินค้าส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEsทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น"
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ในอัตราร้อยละ 7.0 มีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝน และนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs และกลุ่ม OTOP) โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง และ ทูน่ากระป๋อง ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+17.6%) แป้งมันสำปะหลัง, อาหารพร้อมรับประทาน (+10.0%), กุ้ง (+9.3%), น้ำตาลทราย (+6.8%) , เครื่องปรุงรส (+6.8%) ไก่ (+6.6) และน้ำผลไม้ (+6.6%)
สำหรับในปี 2561 มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ราคาพลังงานที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหาร คือ การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐ สถาบันอาหาร รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลสำเร็จเป็นรูปธรรม