กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กระทรวงพลังงาน
สำนักงานพลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเห็ดเศรษฐกิจบ้านธรรมรัตน์ ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ฟาร์มเห็ดครบวงจร ลดรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่ม พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน พร้อมผลักดันเป็นศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทน เปิดโอกาสชุมชนต่างๆ เข้าศึกษาดูงาน นำไปพัฒนาอาชีพในชุมชน
นายเกียรติศักดิ์ สร้อยพานิช พลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการใช้พลังงานทดแทนอย่างถูกต้องให้กับชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้น สำนักงานพลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน จึงได้ดำเนินการขยายผลนโยบายดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้ร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ประกอบด้วย ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 ตู้ งบประมาณ 24,000 บาท บ่อหมักก๊าซชีวภาพขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 บ่อ งบประมาณ 8,500 บาท เตานึ่งพร้อมตัวครอบแก๊สประสิทธิภาพสูง จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 17,000 บาท ภายใต้งบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้กับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเห็ดเศรษฐกิจบ้านธรรมรัตน์ ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพทำฟาร์มเห็ดแบบครบวงจร ตั้งแต่การเพาะเห็ดไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด โดยมีผลิตภัณฑ์ อาทิ ก้อนเห็ดและเห็ด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดนางรม และเห็ดหลินจือ และผลิตภัณฑ์เห็ดแปรรูป เช่น ข้าวเกรียบเห็ด แหนมเห็ด น้ำเห็ดสมุนไพรไม้ฝาง น้ำเห็ดกระเจี๊ยบเป็นต้น
พลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เนื่องจากที่ผ่านมาทางกลุ่มมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังจากการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเห็ดเศรษฐกิจบ้านธรรมรัตน์ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการใช้แก๊สแอลพีจีได้ 100% หรือคิดเป็นเงิน 36,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็นการใช้แก๊สแอลพีจีขนาดถังละ 48 กิโลกรัม จำนวน 32 ถังต่อปี นอกจากนี้ การสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าวยังช่วยให้กระบวนการผลิต มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ทางวิสาหกิจชุมชนสามารถรองรับการสั่งสินค้าเพิ่มจากกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30 % ที่สำคัญยังสามารถต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวบ้าน จากชุมชนต่างๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำเทคโนโลยีด้านพลังงานไปพัฒนาอาชีพและปรับใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย