กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
วธ. น้อมนำศาสตร์พระราชา และพระราชดำรัส ในหลวง ร.10 แนวทางขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม สู่เด็ก-เยาวชน-ประชาชน ให้อนุรักษ์-สร้างสรรค์-สืบทอดวัฒนธรรม ชู "โครงการสุดยอดผลงานสร้างสรรค์ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสมัย ร. 9" เดินหน้านำนวัตกรรมยุคใหม่พัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม ให้น่าสนใจ-สะดวก-รวดเร็วเข้าใจง่าย
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาส ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ความว่า "ความมั่นคงของชาติ ความสุขและความปลอดภัยของประชาชน และชื่อเสียงตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศชาติเรา ซึ่งมีประวัติและวัฒนธรรมอันยาวนานตลอดจนมีสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 สถาบันได้คุ้มครองประเทศมาตลอด การทำงานแน่นอนต้องเจอปัญหาข้อขัดข้อง ปัญหาต่างๆ และจะเกิดข้อบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดตลอด อันนี้เป็นมาตามประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเกิดใช้ปัญญา พร้อมด้วยกำลังใจ และความมุ่งมั่นที่ดีก็จะรู้จักแก้ไขข้อขัดข้อง ข้อบกพร่อง และอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้"
"เพราะความสุข ส่วนรวม ภาพรวมของประเทศชาติประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญของประเทศไทย มีวิธีการทำงานมากมายหลายอย่าง แต่ความมุ่งมั่น การสร้างปณิธานที่จะรับใช้ประชาชน ประเทศชาติ และสถาบันอันสูงสุดต่างๆ ของชาติมีความสำคัญ ประชาชนเขาอยากมีความสุข อยากมีความมั่นใจ ปลอดภัย และเขาก็พร้อมที่จะเดินก้าวหน้าไปที่ถูกที่ควร คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ขับเคลื่อนดูแลปกป้องคุ้มครองประเทศชาติแผ่นดินของเรา ขอให้คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านรับสั่งไว้มากมาย ท่านทรงปฏิบัติมามากมาย ถ้าได้ศึกษาพระราชกรณียกิจ พระราชปณิธานของพระองค์ท่านก็คงจะเป็นสิ่งที่เป็นแนวทางที่ดีของประเทศชาติที่จะสืบสานต่อจากพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน แน่ใจว่าประชาชนก็ต้องการแบบนั้น ก็ขอให้โชคดีทุกคน"
นายวีระ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการขับเคลื่อนงานของ วธ.ในปี 2561 จะเน้นและให้ความสำคัญในการน้อมนำศาสตร์พระราชาและพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมผ่านภารกิจของกระทรวงของหน่วยงานทุกสังกัด วธ. โดยยึดตามศาสตร์พระราชาและพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะแบ่งภารกิจเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ ส่วนที่ 1 ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ แหล่งโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ที่สำคัญการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงนำมิติทางศาสนาในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่ประชาชน และเป็นการสืบทอดศาสนา อาทิ กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา และวันเข้าพรรษา รวมถึงกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเนื่องในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
นายวีระ กล่าอีกว่า ส่วนที่ 2 2.1 รณรงค์ส่งเสริมความเป็นไทยสู่ใจประชาชนตามโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทย อย่างเช่น การสืบค้นและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ไทย การรณรงค์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงการประกวด ยกย่อง ผลิตสื่อ ฯลฯ 2.2 การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ ในการนำกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในมิติต่างๆ มานำเสนอให้คนในสังคมได้เรียนรู้ความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรี การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ผ่านนิทรรศการ การแสดงทางวัฒนธรรม รวมถึงการแสดงสินค้าทางวัฒนธรรม 2.3 รณรงค์ความเป็นไทย เช่น การแต่งกายผ้าไทย พื้นถิ่น ประเพณี การแสดงและดนตรีพื้นบ้าน โดยมีกิจกรรม อาทิ อาหารอร่อย 100 ปี ถนนสายวัฒนธรรม และ 2.4 ส่งเสริมเทศกาลประเพณี โดยการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีไทย อัตลักษณ์ชุมชน และเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียนกับประเทศเพื่อบ้าน อาทิ ประเพณีลอยกระทง และสงกรานต์ รวมถึงยกระดับเทศกาลประเพณีจากท้องถิ่นสู่ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนที่ 3 เป็นโครงการสำคัญๆ ที่กรมต่างๆจะร่วมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม อาทิ 3.1 โครงการสุดยอดผลงานในสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อคัดสรรสุดยอดผลงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 3.2 ดำเนินการรวบรวมข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการสืบสานศาสตร์พระราชาให้เป็นระบบ โดยการจัดทำฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และองค์ความรู้ด้านศาสตร์พระราชา เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูล รวมถึงการเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และองค์ความรู้ด้านศาสตร์พระราชา ผ่านสื่อประเภทต่างๆ รวมทั้งรณรงค์การน้อมนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และ3.3 ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยคนในชุมชนยึดมั่นในข้อปฏิบัติหลัก 3 ประการ ที่สามารถสัมผัสได้ คือยึดและปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาของแต่ละศาสนา มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนภารกิจและงานด้านวัฒนธรรมในปี 2561 ได้กำชับและมอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญและเน้นเรื่องการน้อมนำศาสตร์พระราชาและพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมผ่านภารกิจของกระทรวงในทุกมิติ