กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน เร่งจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจและการลงทุน ยึดหลักสะดวก รวดเร็วและมีมาตรฐาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน หาทางออกมาตราการส่งเสริมการลงทุนให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พิจารณาจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่สนใจเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทั้งนี้พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้เร่งดำเนินการทันที
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ในสถาบันการศึกษาและสถานประกอบกิจการ ที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมกว่า 400 แห่ง สำหรับในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆ นั้น ได้มอบหมายให้จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา อยุธยา เร่งดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการ ทั้งการจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบ และสาขาอาชีพที่ต้องการนำพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกพร. ให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในสถานประกอบกิจการ และในสถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีบริการทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพและอีก 76 จังหวัด รวมถึงการเข้ากำกับดูแลการทดสอบ ณ ศูนย์ทดสอบที่ได้รับอนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย
สำหรับการทดสอบในสถานประกอบกิจการนั้น เป็นการดำเนินการทดสอบในภาคทฤษฎี สำหรับการทดสอบภาคปฏิบัติ จะดำเนินการได้เมื่อ สถานที่ทดสอบฯ มีเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ที่พร้อมทดสอบ หรือ กพร. สามารถขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ไป ณ จุดทดสอบได้ ทั้งนี้เป็นการดำเนินการดังกล่าว จะยึดตามหลักมาตรฐานของการทดสอบเป็นสำคัญ อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง มีบริการทดสอบมาตรฐานฯ นอกสถานที่ (Testing Mobile Unit) โดยใช้สถานที่ของนิคมอุตสาหกรรมเหมราช (HISCA) เป็นสถานที่ในการทดสอบ สาขาที่สามารถดำเนินการได้ อาทิ สาขาด้านคอมพิวเตอร์ สาขาการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ สาขาด้านงานเชื่อม สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น
นอกจากนี้ การทดสอบภาคทฤษี กพร. ยังดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (ภาคความรู้) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Testing System) ผู้เข้าทดสอบจะทราบผลการทดสอบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถดำเนินการทดสอบในภาคปฏิบัติได้รวดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริการด้านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น ได้เร่งให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการ พร้อมบริการแบบเคลื่อนที่ตามความต้องการของสถานประกอบการและแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว อธิบดี กพร.กล่าว