กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ตีฆ้องร้องป่าว
"บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ บางคนกลัวลูกจะมีอันตราย เมื่อต้องออกมาวิ่งเล่น ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน"
ความจริงจากปาก เซาะดะห์ บินยีหมัด หรือ ครูรัย ครูโรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ จ.สงขลา ที่สะท้อนถึงอุปสรรคในช่วงแรก ของการเข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) ของ สสส.
ทัศนคติของผู้ปกครองหลายคนต่างเข้าใจว่า การเรียนรู้ของเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องเน้นด้านวิชาการ เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่ความจริงแล้ว ครูรัย บอกว่า สำหรับเด็กปฐมวัยระหว่าง 2-6 ปี การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ เน้นกิจกรรม สร้างเสริมจินตนาการให้กับพวกเขา ที่ผ่านมา ตัวของครูผู้สอนเอง ก็ยังไม่รู้วิธีการ หรือกระบวนการสร้างกิจกรรมที่ดีพอ
สิ่งที่พบคือเด็กในความดูแลของศูนย์ฯ มีพัฒนาการล่าช้า ครูจึงต้องย้ำคิดย้ำทำในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ฯ ครูเองได้มีเวทีแลกเปลี่ยนกันจากหลายๆ พื้นที่ จนสามารถพัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ ได้
"ช่วงแรกๆ คิดไม่ออกว่าจะทำสื่ออะไร พอร่วมกิจกรรมทำให้รู้ว่า ทุกพื้นที่ในศูนย์ และสิ่งของรอบตัว สามารถหยิบจับมาเป็นสื่อได้หมดเลย จึงเริ่มจากการจัดสนามเด็กเล่น ให้เด็กได้มีพื้นที่ออกกำลังกาย รวมถึงใช้นิทานเป็นสื่อกลาง ที่ไม่ใช่การเล่าให้ฟังอย่างเดียว แต่ให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม สอดแทรกการเรียนรู้ทำให้เด็กปรับเปลี่ยนนิสัย เน้นการใช้ชีวิตประจำวัน และให้เด็กได้แสดงออก พวกเขาจึงไม่เบื่อ" ครูรัย อธิบาย
สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ยังถูกนำไปใช้กับโรงเรียนบ้านวนาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งพบสภาพปัญหาไม่ต่างกัน คือ เด็กมีพัฒนาการล่าช้า ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ธนาภา อินทวงศ์ ครูโรงเรียนบ้านวนาหลวง ยอมรับว่า การจัดการเรียนการสอนที่ต้องอิงตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของเขตพื้นที่การศึกษา ที่กำหนดมาเฉพาะ เป็นอีกอุปสรรค ทำให้ครูผู้สอนต้องปฏิบัติตามกรอบหลักเกณฑ์ที่วางไว้
แต่เมื่อเริ่มปรับวิธีการสอนผ่านสื่อสร้างสรรค์ฯ ทำให้ทัศนคติการสอนเปลี่ยนไป ครูได้พยายามคิดนอกกรอบ โดยใช้ความเหมาะสมตามช่วงวัยของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ซึ่งในพื้นที่นี้เด็กๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้ ยิ่งไปกว่านั้นมีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้ถูกฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง การมีผลิตสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมจึงทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะ การใช้ชีวิต
"แต่ก่อนเด็กมาถึงโรงเรียนจะไม่ยอมห่างจากผู้ปกครอง ไม่กล้าคุย ไม่กล้าทำอะไร แต่เมื่อได้จัดกิจกรรมให้ทำร่วมกัน โดยใช้นิทานเป็นสื่อกลาง พร้อมออกแบบสื่อที่ช่วยให้การเล่านิทานมีความน่าสนใจ สร้างสัมพันธภาพให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม เด็กจึงมีพัฒนาการที่ดีขึ้น กล้าพูด กล้าคุย เช่น กล้ามาขออนุญาตเข้าห้องน้ำ เมื่อพวกเขาเรียนรู้การใช้ชีวิตจากนิทานที่พยายามสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไป ก็ทำให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถใส่เสื้อผ้า ใส่ถุงเท้า รองเท้า ได้เองและการฝึกฝนผ่านนิทานยังทำให้เด็กๆ ตั้งใจอ่านออกเสียง ส่งผลให้การสื่อสาร การอ่านออกเขียนได้ดีตามไปด้วย" ครูธนาภา สะท้อนภาพความสำเร็จ
นี่เป็นบางส่วนในรูปธรรมของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ให้กับเด็กและเยาวชนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่ง สายใจ คงทน หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพและบริหารจัดการโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เห็นว่า มีความจำเป็นเพราะเด็กในช่วงวัยนี้ต้องเร่งส่งเสริม กิจกรรม จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าการเรียนรู้วิชาการ
แต่ที่ผ่านมาบุคคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ไม่ได้เติมเต็มส่วนนี้ ทำให้เด็ก ขาดพัฒนาการช่วงวัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ และการส่งเสริมพัฒนาการ
โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 ด้วยหลักคิด 3ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และ ภูมิดี เพื่อขยายผลให้มีการนำเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ปิดกั้นจินตนาการ ให้เด็กได้เล่นผ่านสื่อที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการคิดของตัวเอง และยังสามารถพลิกแพลงการเล่นที่ไม่ตายตัว
"การดำเนินงานในหลายพื้นที่ พบว่า ภาพรวมเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น เช่น เรื่องการใช้ภาษา เด็กเริ่มพูด เริ่มออกเสียง จากการอ่านนิทาน เด็กได้เจริญเติบโตจากการเล่นสนามเด็กเล่น และรู้จักการเข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์ผ่านการเล่น รวมถึงมีระเบียบวินัย รู้จักการรอคอย ไม่เพียงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กเท่านั้น แต่การผลิตสื่อสร้างสรรค์ ยังทำให้ครูได้คิดอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้จึงไม่ใช่การสอนไปวันๆ ตามในแบบเรียนอีกต่อไป"
สอดคล้องกับมุมมองของ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ที่เห็นว่า บทบาทการผลิตสื่อสร้างสรรค์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีความสำคัญ เพราะเปรียบเหมือนอิฐก้อนแรกของชีวิต หากก่ออิฐไม่ดีตั้งแต่ฐานราก ก็จะส่งผลต่ออนาคตของเด็กในอนาคต
โดยสื่อที่เด็กเข้าถึงในปัจจุบันกลายเป็นความตั้งใจของผู้ปกครองที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว เช่น การให้เด็กอยู่แต่กับหน้าจอแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ทั้งที่ความจริงเด็กในวัย 2-6 ปี ควรได้อยู่กับแสงจากธรรมชาติ ได้ออกแรงทำกิจกรรม
ดังนั้นเมื่อเวลาส่วนใหญ่ของเด็กต้องอยู่กับโรงเรียน หรือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บุคคลากรที่ให้การดูแลเด็กต้องมีองค์ความรู้ และตระหนักถึงสิ่งที่เด็กต้องการ เช่นเดียวกับชุมชน ท้องถิ่น ต้องเร่งสนับสนุนการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย
"ผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ เพราะการสนับสนุนรูปแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กเล็กไม่ใช่แค่การปรับปรุงอาคารศูนย์เด็กเล็ก หรือ ซื้อเครื่องเล่นมาวางไว้ภายในสนามเด็กเล่นเท่านั้น แต่ควรสร้างการมีส่วนร่วมทั้งจากครูและเด็ก เพื่อให้การเรียนรู้มุ่งเน้นพัฒนาการของเด็กในทุกมิติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นราคาแพง แต่ควรสร้างความเข้าใจการจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กจะดีที่สุด" ผู้จัดการ สสย.ขยายความเพิ่มเติม
ถึงตรงนี้เห็นได้ชัดเจนว่าการผลิตสื่อสร้างสรรค์สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเด็กได้เป็นอย่างดี บ่งบอกได้ทั้งจากคำบอกเล่าของตัวครูผู้สอน และผู้ปกครอง ที่เห็นว่า พัฒนาการทางร่างกายที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับการมีทักษะ ช่วยเหลือตัวเอง เด็กๆ ยังได้คิด ริเริ่มสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมกับกิจกรรม
นี่จึงพอเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า การวัดผลทางวิชาการ อาจไม่ใช่คำตอบเพื่อพัฒนาที่เหมาะสมของเด็กวัยนี้ ได้ดีไปกว่าการได้เล่น ได้คิด อย่างสร้างสรรค์