กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
ภายใต้แนวคิดหลักว่า “การศึกษาคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เทศบาลนครยะลาจึงมีแนวคิดในการสร้างเมืองยะลาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถตอบรับกับทุกความต่างในสังคมได้อย่างลงตัว หนึ่งในนั้นคือการจัดตั้ง “อุทยานการเรียนรู้ยะลา” อุทยานการเรียนรู้ส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครยะลา และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายทางปัญญากระจายองค์ความรู้ตลอดจนคอนเทนต์ต่างๆ ที่สร้างสรรค์จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น โดยนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ กว่า 9 เดือนอุทยานการเรียนรู้ยะลาได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ที่ปลอดภัย ที่สำคัญช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันของประชาชนในพื้นที่อย่างมีสันติสุข
ด้วยการสนับสนุน ส่งเสริม ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่การสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิตภายใต้นวัตกรรมที่ผสมผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้ให้อุทยานการเรียนรู้ยะลาเท่านั้น ผลบุญ นันทมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เผยว่า “สิ่งสำคัญที่ทีเค ปาร์คต้นแบบรับผิดชอบคือเรื่องขององค์ความรู้ตลอดจนคอนเทนต์นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ต้นแบบ เช่น อีบุ๊คส์ หนังสือหายาก, อีบุ๊คส์ จากการคัดสรรและการประกวดหนังสือเสียง, ชุดสื่อนิทรรศการและการเรียนรู้, ห้องสมุดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์, ซีดีเกม 2D และ 3D, และวีอาร์ เกม รวมทั้งการจัดฝึกอบรมต่างๆ โดยท้องถิ่นสามารถนำคอนเทนต์เหล่านี้ไปจัดการต่อยอดในรูปแบบของตนเองได้ การให้คอนเทนต์เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ทีเค ปาร์คยะลาเป็นห้องสมุดมีชีวิตอย่างแท้จริงเฉกเช่นทีเค ปาร์คต้นแบบ”
สายฝน เชิงเชาว์ ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ยะลา เรี่ยวแรงหลักในการผลักดันให้ยะลาเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เล่าถึงนโยบายหลักว่า “ทีเค ปาร์คยะลามุ่งมั่นในการส่งเสริมการอ่านโดยผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเล่นดนตรี การทำกิจกรรรมเวิร์คชอป การเสวนา การชมภาพยนตร์ เป็นสถานที่หรือแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองและรองรับทุกเพศทุกวัย คณะกรรมการบริหารกิจกรรมการเรียนรู้ยะลาจะดูแลเรื่องของตารางกิจกรรม เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวน่าสนใจเช่นห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบที่กรุงเทพ ซึ่งทางนั้นจะเป็นที่ปรึกษาให้ความอนุเคราะห์เมื่อร้องขอหรือทางทีเค ปาร์คต้นแบบมีเนื้อหาสาระใหม่ๆ ก็จะแจ้งมา ที่ผ่านมา เช่น การอบรมไอที การจัดทำอีบุ๊คส์ อีไลบรารี่ เป็นต้น ปัจจุบันถือว่าทีเค ปาร์คยะลาสามารถกระจายองค์ความรู้ได้ทั่วเขตจังหวัด รวมถึงนราธิวาส ปัตตานี สงขลา และใกล้เคียง”
แม้อุทยานการเรียนรู้ยะลาจะสร้างกิจกรรมที่สร้างนิสัยการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน เพื่อให้ไทยพุทธมุสลิมรู้จักกัน และเข้าใจแนวคิดซึ่งกันและกัน แต่ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ยะลาเชื่อว่าตรงนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง อันเป็นหนทางการแก้ไขระยะยาว ซึ่งหวังผลได้อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป “ตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 9 เดือนนั้น ได้ผลเรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรงหรือไม่นั้น คิดว่ายังไม่ใช่ค่ะ เพราะปัญหาของเราตอนนี้คือการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การจะสร้างความไว้ใจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน”
เมื่อถามถึงความมุ่งหวังของคนทำงาน คุณสายฝนยิ้มก่อนตอบว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้เยาวชนรักการเรียนรู้ มีหนังสือติดมือ หรือว่างเมื่อไรก็จะหยิบหนังสืออ่านทันที สามารถถ่ายทอดความรู้ออกมาเป็นตัวอักษรได้ คืออ่านแล้วเขียนได้ การเรียบเรียงตัวอักษรออกมาได้เป็นกระบวนการคิดที่สำคัญ เพราะการเขียนคือการฝึกการคิด เมื่อมีพื้นฐานการคิดก็จะมีพื้นฐานการวิเคราะห์ ทำอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล เมื่อเด็กมีเหตุมีผล กระบวนการความกลมกลืนในสังคมก็จะบังเกิด เด็กจะไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด เพราะเขามีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะยังประโยชน์ให้สังคม และประเทศชาติ”
จำนวนผู้เข้าใช้อุทยานการเรียนรู้ยะลา ตั้งแต่เปิดบริการ 28 ธ.ค.2549 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2550 มีผู้เข้าใช้ 115,968 คน เฉลี่ยมีผู้เข้าใช้ 569 คนต่อวัน สูงสุดคือวันเด็กประมาณ 1,500 คน และวันครูประมาณ 500 คนมีคณะเข้าเยี่ยมชมดูงานมีทั้งครู โรงเรียน ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสิ้น 1,398 คน ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นความสำเร็จในเรื่องของการเข้าใช้บริการ อย่างดียิ่งสำหรับ ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา วัชรี พรหมพิจิตร์ “แม้เรายังไม่พร้อม 100% แต่เราก็สามารถเป็นแม่ข่ายในการกระจายองค์ความรู้ได้ในระดับหนึ่ง การมีทีเค ปาร์คยะลา ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรม แต่ยังเป็นสถานที่สำหรับเด็กเล็ก เสาร์อาทิตย์เราจะเห็นภาพครอบครัว พ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง แม่นั่งจัดสวนถาดกับลูก เกิดการสร้างพันธภาพที่ดีและแนบแน่นยิ่งขึ้นภายในครอบครัวของคนยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้น ในเรื่องของความต่างของศาสนา เราจะให้เด็กๆ ไทยพุทธมุสลิมทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กๆ อยากทำอะไรก็จะเสนอไอเดียมา บางกลุ่มไปทำความสะอาดมัสยิด บางกลุ่มจัดติวให้เพื่อนในทีเค ปาร์คยะลา หรือบางครั้งเราก็จะพาเขาไปเข้าค่ายด้วยกัน แชร์กันในเรื่องของความคิด อุปกรณ์หลายอย่าง ในความเป็นทีเคปาร์คยะลา เราเน้นในเรื่องของการสร้างความเอื้ออาทรต่อกัน สามัคคีกัน โดยโยนโจทย์ให้เขาว่ามีอะไรให้ถาม อย่าสงสัย อย่าเก็บคำถามไว้คนเดียว เป็นส่วนหนึ่งให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อ เคยรับรู้ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องพยายามลดความหวาดระแวงระหว่างกันลง เพราะทุกวันนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่ความหวาดระแวงต่อกัน”
“ถ้าเปรียบทีเค ปาร์คยะลาเป็นห้องใดในบ้าน ก็คงต้องบอกว่าเป็นห้องเอนกประสงค์ เราสามารถทำอะไรก็ได้ทุกอย่างที่นี่ได้ ภายใต้กฎระเบียบและการเคารพสถานที่” คุณวัชรี กล่าว “ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่ไม่เคยท้อ เราอยู่และเติบโตมาในสายงานนี้ รักและผูกพัน เคยฝันมาตลอดว่าเมื่อไรประเทศไทยจะมีห้องสมุดอย่างนี้ วันนี้เมื่อมีทีเค ปาร์คยะลาเรามีหน้าที่ต้องดูแลให้ดีที่สุด ความสุขของเราคือการได้เห็นเด็กๆ มาใช้บริการที่นี้ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ มีพัฒนาการและรักการอ่านมากขึ้น ทำยังไงก็ได้ให้เด็กมีความรู้แม้เป็นความรู้เล็กๆ เราก็ภูมิใจและมีแรงทำงานต่อ ไม่เคยมีวันไหนที่เราไม่อยากมาทำงาน”
แม้ไม่ใช่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่การมีอุทยานการเรียนรู้ยะลาก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของสังคมแห่งรักและเข้าใจ ท่ามกลางบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ท้ายสุดอาจนำมาซึ่งสันติสุขในไม่ช้า...
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด
โทร 0-2434-8300 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา