ปภ. เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Friday September 28, 2007 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคลอง พร้อมทั้งตรวจสอบ ซ่อมแซม อาคารบังคับน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงนี้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำทั้งหมด 52,318 ล้าน ลบ.ม ส่วนปริมาณน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,789 ลบ.ม./วินาที โดยมีระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา + 16.06 เมตร (รทก.) ท้ายเขื่อน + 13.40 เมตร (รทก.) เขื่อนพระรามหกปริมาณน้ำไหลผ่าน 68.0 ลบ.ม/วินาที ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแต่อย่างใด ซึ่งหากปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสูงเกิน 2,000 ลบ.ม/วินาที จะส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และหากสูงเกิน 2,500 ลบ.ม/วินาที จะทำให้เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท สองฝั่งเจ้าพระยาของจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฝั่งตะวันออกในปี 2550 จึงได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครและปริมณฑลฝั่งตะวันออก เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังน้ำ ระดับน้ำ และปริมาณน้ำทุกสถานีวัดน้ำท่าต่างๆ รวมทั้งระดับน้ำทะเล กำหนดมาตรการในการพร่องน้ำหรือควบคุมระดับน้ำในคลองสายหลัก กำหนดเกณฑ์การรับน้ำเหนือหลาก และความสามารถในการสูบน้ำและระบายน้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รวม 143 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 55 เครื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยเร่งขุดลอกคลองจำนวน 117 แห่ง และกำจัดวัชพืชในคลองสายหลักต่างๆ จำนวน140 แห่ง เตรียมการป้องกันน้ำล้นตลิ่ง โดยเสริมกระสอบทราย ก่อสร้างคันดินขนาดเล็ก และผันน้ำเข้าทุ่ง พร้อมทั้งตรวจสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทาน ทดลองเปิด-ปิด อาคารบังคับน้ำทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้อย่าง มีประสิทธิภาพ สุดท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอ ความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ