การบินไทยและแอร์บัสร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday December 20, 2017 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--การบินไทย วันนี้ (วันที่ 15 ธันวาคม 2560) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส มิสเตอร์เพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ผู้แทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสเปน และสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการ บริษัท การบินไทยฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี โดยมีนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ และมิสเตอร์ฌอง ฟร็องซัวส์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แอร์บัส ร่วมลงนาม ซึ่งมีผู้บริหารการบินไทย และเรืออากาศโท รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ร่วมให้การต้อนรับ ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) และเป็นโครงการสำคัญยิ่งของประเทศไทย ซึ่งพิธีลงนามในครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความร่วมมืออันดีระหว่าง บริษัท การบินไทยฯ และบริษัท แอร์บัส ที่มีความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ภายหลังจากที่มีการลงนามในบันทึกว่าด้วยความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding (MOU)) เพื่อประเมินความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลของการศึกษาความเป็นไปได้เป็นที่น่าพึงพอใจทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ได้รูปแบบการลงทุนที่มีกรอบของความเป็นไปได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการดังกล่าว บริษัท การบินไทยฯ ได้นำส่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น จากนั้นจะได้จัดส่งให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป ในส่วนของสัญญาว่าด้วยความร่วมมือที่บริษัท การบินไทยฯ และบริษัท แอร์บัส ได้ร่วมลงนามในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในการประเมินโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อนำไปสู่การจัดทำสัญญาทางธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสังเขปของสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ ดังนี้ 1. กำหนดขอบเขตในการหารือและวิเคราะห์เพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งในระยะแรก กำหนดโอกาส ทางธุรกิจไว้ 7 กิจกรรม คือ - การจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งครอบคลุมถึงการซ่อมใหญ่อากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด และการพ่นสีอากาศยาน - การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง - การจัดตั้งโรงซ่อมชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานแบบผสม หรือ Aircraft Composite Repair Shop - การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อให้เป็นโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hangar) - การจัดตั้งคลังอะไหล่และศูนย์โลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน - การออกแบบและก่อสร้างอาคารและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานให้เหมาะสม - การจัดตั้งโรงซ่อมบริภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด 2. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างบริษัท การบินไทยฯ และบริษัท แอร์บัส เพื่อเจรจา ศึกษา วิเคราะห์ ประเมิน และตัดสินใจในการทำธุรกิจร่วมกัน 3. สัญญานี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายใดๆ ระหว่างคู่สัญญาให้ต้องดำเนินการตามโอกาสทางธุรกิจใดๆ หรือต้องเข้าทำสัญญาทางธุรกิจใดๆ ระหว่างกัน เป็นเพียงการกำหนดกรอบความร่วมมือในการวิเคราะห์และประเมินโอกาสทางธุรกิจระหว่างคู่สัญญาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากการประเมินโอกาสทางธุรกิจในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งข้างต้นบรรลุผลร่วมกันก็จะสามารถนำไปสู่การทำสัญญาการร่วมทุน (Joint Venture Agreement) ในแต่ละกิจกรรมต่อไป โดยมีเป้าหมายแรกคือกิจกรรมการจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2562 มิสเตอร์ฌอง ฟร็องซัวส์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แอร์บัส เปิดเผยว่า แอร์บัสมีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) ที่จะช่วยมอบโอกาสอันดีทางธุรกิจให้กับบริษัทพันธมิตรและซัพพลายเออร์ทางด้านการบินหลายบริษัทซึ่งในหลายเดือนที่ผ่านมา คณะทำงานของแอร์บัสและการบินไทยได้ประเมินศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO หรือ Maintenance, Repair and Overhaul) โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมในเรื่องของทำเลด้านภูมิศาสตร์ควบคู่ไปกับแรงงานที่มีฝีมือ และศักยภาพทางด้านการตลาดที่จะนำมาซึ่งประโยชน์อันมากมายในอนาคต จากการคาดการณ์ฝูงบินที่ให้บริการทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัวเพิ่มเป็นสองเท่าตัวภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จากจำนวนราว 6,100 ลำเป็นกว่า 17,000 ลำ ซึ่งประมาณการณ์มูลค่าของภาคส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 664 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า สนามบินอู่ตะเภา สามารถรองรับอากาศยานได้ทุกขนาด และยังมีโรงซ่อมบำรุงแบบครบครันที่ดำเนินการโดยการบินไทยอยู่แล้ว รวมทั้งมีแรงงานที่มีฝีมือที่ชำนาญการ และในปีหน้าการบินไทยจะเริ่มดำเนินการซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส เอ380 โดยการดูแลจากทีมแอร์บัส และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการสร้างโรงจอดเครื่องบิน(Hangar) แห่งใหม่ที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากเล็งเห็นว่าอู่ตะเภาจะเป็นท่าอากาศยานขนาด 2 ทางวิ่ง (Runway) ที่เติบโตและมีศักยภาพ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์ซ่อมที่สามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีขนาดลำตัวกว้างทุกประเภท และยังจะมีการสร้างสถาบันด้านวิศวกรรมเครื่องกล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างการบินไทย แอร์บัส และสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ แอร์บัสยังวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการบินและอวกาศในแนวตั้งของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ร่วมกันของผู้บริหารจากทั้งสองฝ่าย ต้องการให้ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่นี้ เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอันดับหนึ่งของโลกที่มีความล้ำสมัย พร้อมรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงของอากาศยานรุ่นใหม่ทุกรุ่นทุกขนาดในอีก 20 ปีข้างหน้า และพร้อมให้บริการซ่อมบำรุงอย่างตรงต่อเวลาเป็นที่สุด ด้วยต้นทุนและราคาที่เหมาะสม และเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความปลอดภัย (On time, On Cost, On Quality) ที่จะให้บริการตั้งแต่การซ่อมบำรุงระดับลานจอดไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับอากาศยานในหลากหลายประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีล่าสุด และการตรวจสอบขั้นสูง มาใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์เพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาอากาศยานล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมบำรุงอัจฉริยะ (Smart Hangar) ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในระดับ World Class MRO อันดับหนึ่งของโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ