กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
อาจารย์ยักษ์ มอบนโยบายกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนสำคัญทั่วประเทศตรงตามกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับการพัฒนา 25 ลุ่มน้ำหลักร่วมกับประชาชนและเอกชนที่สนใจ โดยนำร่อง 3 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำห้วยสโมงและลุ่มน้ำน่าน เพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ให้เพิ่มขึ้นพร้อมเป็นปัจจัยประกอบการปฏิบัติการฝนหลวง
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 เวลา 11.30 น. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรว่า ได้เตรียมการพัฒนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้มีความพร้อมในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งจะต้องสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านฝนหลวงในระดับนานาชาติและจัดตั้งโรงเรียนการบินขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ให้ยึดหลักการทำงานโดยประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การขอเพิ่มอัตรากำลังและความก้าวหน้าของบุคลากร ซึ่งต้องมีการเจรจาร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการ ด้านเนื้องาน โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายว่าทำงานร่วมกับใคร ผลงานไปถึงใคร พื้นที่เป้าหมายการทำฝน ช่วงเวลาที่เหมาะสมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ด้านงบประมาณ ซึ่งนอกเหนือจากงบประมาณปกติประจำปีแล้วควรจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงด้วย ด้านการดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากรในสังกัด ซึ่งกรมฝนหลวงและ การบินเกษตรเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในช่วงฤดูการทำฝน จำนวน 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมโดยไม่มีวันหยุดราชการอาจส่งผลให้บุคลากรมีความท้อถอยในการปฏิบัติงานได้ สำหรับ การดำเนินงานควรสร้างขวัญและกำลังใจด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสมเหตุสมผล และด้านสุดท้ายเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการพัฒนาลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ โดยนำร่องที่ 3 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำห้วยสโมงและลุ่มน้ำน่าน เพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ให้เพิ่มขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติการฝนหลวง
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำยุทธศาสตร์ฝนหลวง 20 ปี เพื่อรองรับพันธกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศให้เกิดฝนในปริมาณและ การกระจายที่เหมาะสม โดยจัดทำในกรอบเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปีและ 20 ปีตามลำดับ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาระดับภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาระดับอาเซียน ภายในระยะ 5 ปี และระยะ 10 ปี และพัฒนาเป็นระดับเอเชียในระยะ 15 ปี และระดับโลกในระยะ 20 ปี ทั้งนี้ การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว จะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้กว่า 90% และป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ถึง 70% เพื่อช่วยเหลือประชาชนและพี่น้องเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป