กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. และ กทปส. เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 สถานะเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีเงินคงเหลือจำนวน 39,350.26 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่มีมีภาระผูกพันรวมจำนวน 18,805.87 ล้านบาท คงเหลือเงินหลังหักภาระผูกพันแล้ว จำนวน 20,544.39 ล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนโดยความเห็นชอบของ กสทช ได้เห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงิน งานวิจัยและพัฒนาสำหรับการจัดสรรเงินจากกองทุน เพื่อสนับสนุนโครงการประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยวงเงินแต่ละโครงการฯ ต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท และการดำเนินการโครงการต้องไม่เกิน 2 ปี โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนได้แบ่งกรอบหัวข้อการให้ทุนเป็น 6 ด้าน ได้แก่
ด้านการดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม
ด้านการส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน
ด้านการวิจัยและพัฒนาในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ด้านการส่งเสริมการดำเนินการขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมของการประกอบอาชีพตามกฎหมาย
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ทั้งนี้ สำหรับหัวข้อการส่งเสริมในด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2561 นี้มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรมต่อนโยบาย Thailand 4.0 ได้แก่ Finance Technology, Smart Agriculture, Smart City, Smart Health สามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – วันที่ 31 มกราคม 2561
ประธาน กทปส. ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจ USO เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล อันได้แก่
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อให้ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน
2) การสนับสนุนและส่งเสริมการทำธุรกิจผ่านระบบดิจิทัลให้แก่ SMEs วิสาหกิจชุมชน ภาคการเกษตร การผลิต การค้าและบริการ
3) การให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการพื้นฐานของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เช่น บริการการศึกษา ข้อมูล และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
4) การสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เป็นรูปธรรม
5) การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล
การดำเนินงานภายใต้แผน USO ฉบับที่ 2 (2560 – 2564) ยังคงมีวัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับแผน USO (2555 – 2559) หากแต่ได้มีการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และขยายขอบเขตการดำเนินงานให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลภายใต้การดำเนินนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ Digital Economy ที่มีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 เพื่ออาศัยกลไก USO ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
1) การขยายความครอบคลุมสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จำนวนประมาณ 3,920 หมู่บ้าน และในพื้นที่ห่างไกล (Zone C+) จำนวนประมาณ 15,732 หมู่บ้าน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน
2) การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 30/10 Mbps โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายท้องถิ่น (Last Mile) กับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการให้แก่หน่วยงานเป้าหมายตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อสร้างความยั่งยืนการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ
3) การจัดให้มีศูนย์ USO NET ประจำโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่ให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทางสังคม จำนวน ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่น้อยกว่า 30/10 Mbps พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมถึงยกระดับมาตรฐานความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้แก่หน่วยงานภาครัฐให้ไม่น้อยกว่า 30/10 Mbps ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานศูนย์ USO NET ของประชาชน และบริการอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานภาครัฐ
"โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ" ที่มีเป้าหมายเพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง เชื่อมโยง และไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมของสำนักงาน กสทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่พิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกับพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)