กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ซีพีเอฟ
นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ เป็นบริษัทผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ที่มุ่งมั่นผลิตอาหารคุณภาพอย่างครบวงจร โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวสู่ความเป็นครัวของโลก
“กระบวนการเลี้ยงสัตว์นับเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการผลิตอาหารปลอดภัย ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพื่อส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานเดียวกันของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ที่นอกจากจะส่งผลดีในแง่ของการลดมลพิษทางกลิ่น ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และได้พลังงานทดแทนแล้ว ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจฟาร์มที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค นำไปสู่ประโยชน์ในด้านอาหารปลอดภัยสำหรับคนไทย และสร้างความน่าเชื่อถือให้นานาประเทศที่จะนำเข้าอาหารจากประเทศไทยด้วย” นายวีรชัยกล่าวและว่า
ในการผลิตอาหารปลอดภัย ของประเทศไทย มีหน่วยงานของรัฐกำกับดูแลอยู่ทุกขั้นตอน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อทั้ง 3 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันดำเนิน “โครงการประกวดฟาร์มอนามัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซีพีเอฟจึงพร้อมที่จะสนับสนุนการประกวดฟาร์มดังกล่าวอย่างเต็มที่
โครงการประกวดฟาร์มอนามัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะเป็นการประกวดฟาร์มไก่ไข่ ฟาร์ม สุกรพันธุ์ และฟาร์มสุกรขุน โดยแบ่งประเภทการประกวดไปตามขนาดของฟาร์ม ดังนี้
ฟาร์ม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่
ไก่ไข่ 10,000—50,000 ตัว 50,001-200,000 ตัว 200,001 ตัวขึ้นไป
สุกรพันธุ์ 500—1,000 แม่ 1,001—1,500 แม่ 1,501 แม่ขึ้นไป
สุกรขุน 2,000 ตัว 2,001—5,000 ตัว 5,001 ตัวขึ้นไป
ทั้งนี้ ฟาร์มทุกแห่งที่จะเข้าประกวดได้ ต้องเป็นฟาร์มมาตรฐานที่ถูกสุขลักษณะตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และยังต้องเป็นฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือไม่สร้างผลกระทบแก่ชุมชนรอบๆฟาร์ม โดยจะมีคณะกรรมการจากทั้ง 3 กรมเป็นผู้ตัดสิน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฟาร์มที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือที่เจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนศกนี้ และจะประกาศผลการตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยฟาร์มที่ชนะการประกวดจะได้รับ โล่พร้อมใบประกาศ และป้ายสัญลักษณ์ฟาร์มอนามัยใส่ใจสิ่งแวดล้อมติดที่ทางเข้าฟาร์มเพื่อการันตีคุณภาพ
สำนักสารนิเทศ CPF
โทร. 0-2625-7344-5