กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์
รายงาน "Looking Further with Ford" ประจำปี 2018 ชี้ให้เห็นว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั่วโลกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติต่างๆ ของผู้บริโภค ทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเคลื่อนไหว ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการแสดงออกถึงตัวตน
รายงานประจำปีฉบับที่ 6 นี้ชี้ให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวอย่างเห็นได้ชัด และ 3 ใน 4 ของกลุ่มคนเหล่านี้เชื่อว่า พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้ นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาคาดหวังให้แบรนด์ต่างๆ ก้าวขึ้นมาแก้ไขปัญหาทางสังคม
ผู้บริโภคต่างหันมาให้ความสำคัญกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางฐานะระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนถึงการมีสภาพจิตใจที่ดี แม้ผู้บริโภคหลายคนอาจมีความเคลือบแคลงใจต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แต่ก็มีอีกคนจำนวนไม่น้อยที่มีความหวังกับอนาคตของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ผู้คนสับสนมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทั่วโลก จำนวนประชากรที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขารู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นรอบตัวมากมาย รายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคของฟอร์ด "Looking Further with Ford" ประจำปี 2018 ไม่เพียงแค่วิเคราะห์ปัญหา แต่ยังมองหาแนวทางในการรับมือปัญหาเหล่านี้ด้วย
"เห็นได้ชัดว่าพวกเรากำลังอยู่ในยุคที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง" เชอริล คอนเนลลี ผู้จัดการฝ่ายเทรนด์และอนาคตผู้บริโภคระดับโลกของฟอร์ด กล่าว "การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก การเมือง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้คน และทำให้หลายๆ คนรู้สึกมืดแปดด้าน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความอลหม่านและข้อขัดแย้งต่างๆ นี้ ก็ก่อให้เกิดพลังและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันและความรู้สึกผิดในตัวเอง ไปจนถึงการมีส่วนช่วยผลักดันแนวคิดนักเคลื่อนไหวให้เคลื่อนไปข้างหน้า ผู้ใหญ่ส่วนมากเชื่อว่าการกระทำของพวกเขามีพลังที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้"
ในขณะที่สังคมกำลังหาทางจัดการกับการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (urbanization) ที่เพิ่มสูงขึ้น การทำลายสภาพแวดล้อมและความไม่เสถียรทางเศรษฐกิจ ฟอร์ดในฐานะบริษัทผู้นำด้านการสัญจรได้เดินหน้าพัฒนาแนวทางสำหรับการสัญจรอัจฉริยะสำหรับทุกคน ท่ามกลางช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เพิ่มสูงขึ้นและความวิตกกังวลว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ฟอร์ดยังคงเชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า อิสระทางการเคลื่อนไหวจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา นอกจากนี้ ฟอร์ดยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความหมายและยั่งยืนเพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมดีขึ้น
ในแต่ละปี ฟอร์ดพุ่งความสนใจไปที่กระแสต่างๆ ของโลกเพื่อที่จะเข้าใจว่าผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรและบริษัทควรจะตอบสนองอย่างไรบ้าง
ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากรายงานประจำปีครั้งที่ 6 ของฟอร์ด มีดังนี้
39 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขายินดีที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขากับบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ดี อีก 60 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขารู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อพบว่าข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขาคิดว่าการที่บริษัทต่างๆ รู้ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปทำให้พวกเขารู้สึกแปลก52 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่ 61 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขารู้สึกมีความหวังกับอนาคตของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขารู้สึกว่าความทุกข์ยากในโลกนี้มีมากเกินไปในปัจจุบัน และ 51 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขารู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วยทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น81 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มมากขึ้น73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่กล่าวว่า พวกเขาควรจะดูแลสภาพจิตใจของตนเองให้ดีกว่านี้54 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขารู้สึกเครียดมากกว่าปีที่ผ่านมา และในบรรดากลุ่มคนอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปี อัตราความเครียดนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็น 65 เปอร์เซ็นต์
ผลสรุปข้อมูลทั้งหมดนี้ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคนี้ปี 2018 และปีต่อๆ ไป
รายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคฉบับนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผนที่จะช่วยให้เราเข้าใจกระแสหลักในสังคมที่คาดการณ์ว่าจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ต่างๆ ในปี 2018 และปีต่อๆ ไป โดยฟอร์ดได้ค้นพบและสรุปกระแสหลักออกมาได้ 10 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ยุคของการใช้เหตุผล ความวุ่นวายต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเมืองตลอดจนถึง ป๊อบคัลเจอร์ หรือ วัฒนธรรมสมัยนิยม และผู้คนต่างตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ด้วยแนวทางที่แตกต่างกันไป ในขณะที่ความหลากหลายเพิ่มสูงขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยล้าก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้บริโภคต่างค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและปรับตัวในสภาพแวดล้อมเช่นนี้
2. การตื่นตัวของนักเคลื่อนไหว วัฒนธรรมแห่งความแตกต่างที่สุดขั้วหมายถึงการที่ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกไม่พึงพอใจและสงสัยกับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับภูมิปัญญาแบบเก่า และความคาดหวังแบบเดิมๆ เมื่อปัจเจกบุคคลถกเถียงว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง
3. ใส่ใจในความไม่เสมอภาค ความไม่เสมอภาคเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เหล่านักเคลื่อนไหว และผู้ประกอบการต่างค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อช่วยพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของเหล่าพนักงาน ปิดช่องว่างทางด้านค่าจ้าง และมอบมาตรฐานความเป็นอยู่และสาธารณูปโภคในราคาที่เอื้อมถึงได้สำหรับทุกคน
4. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พวกเราต่างตระหนักถึงความท้าทายที่ผู้บริโภคต้องเผชิญจากแหล่งข่าวที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผู้คนเริ่มครุ่นคิดถึงบทบาทของตนเองในสังคม และมุ่งมั่นหาวิธีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้
5. ความสำคัญของสุขภาพจิต ผู้บริโภคและสถาบันต่างๆ ตระหนักว่า เราไม่สามารถมีร่างกายที่ดีได้หากสภาพจิตใจของเราย่ำแย่ ดังนั้น ผู้คนรวมถึงภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ดีกันมากขึ้น
6. วัตถุนิยมบำบัด ผู้บริโภคจำนวนมากไล่ล่าหาสินค้าใหม่ๆ และมีความแตกต่าง โดยมองหาสิ่งของและประสบการณ์ที่นำมาซึ่งความสุข ในขณะที่บริการต่างๆ ที่มุ่งมอบประสบการณ์เปี่ยมประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่า พวกเขาสามารถซื้อสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีขายมาก่อนได้ นั่นก็คือ เวลา
7. ข้อมูลถูกเปิดเผยอย่างช่วยไม่ได้ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ได้รับการเอ่ยอ้างว่าสามารถคาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ โดยในทางทฤษฎีแล้ว ควรนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลขนาดใหญ่อาจนำไปสู่อคติมหาศาลได้ หากวันหนึ่งข้อมูลส่วนบุคคลถูกปล่อยปละละเลย ผู้บริโภคก็ทำได้เพียงคาดหวังว่าเหล่าบริษัทต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ
8. จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยี เทคโนโลยีเสมือนจริง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเราแล้วในขณะนี้ ผู้คนทั่วโลกต่างเริ่มตั้งคำถามถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมจากเทคโนโลยี ชาญฉลาดเหล่านี้
9. โสดอย่างเป็นสุข การแต่งงานและการเป็นพ่อแม่อาจไม่ได้เป็นบรรทัดฐานแห่งความสุขที่ผู้คนฝันใฝ่อีกต่อไป คนที่มีคู่ในปัจจุบันต่างไตร่ตรองเกี่ยวกับการผูกมัดและความสุขของตนมากขึ้นเนื่องด้วยตัวเลือกที่มากขึ้นกว่าเดิมและอายุขัยของคนที่เพิ่มขึ้นในทุกวันนี้
10. การเตรียมการที่ยิ่งใหญ่สำหรับมหานครต่างๆ ภายในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่า ประชากรเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง และเพื่อที่จะใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พวกเราต้องวางแผนการเดินทาง การจ้างงาน การสร้างครัวเรือน การจัดการด้านความเป็นอยู่ที่ดี และจัดการสาธารณูปโภคอย่างชาญฉลาด เพื่อให้สามารถตอบรับประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น
สร้างสรรค์โลกแห่งอนาคตที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น
จำนวนที่น่าตกใจของผู้บริโภคถึง 87 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่า เมืองต่างๆ ต้องการการพัฒนาด้านตัวเลือกในการเดินทาง ฟอร์ดจึงตั้งมั่นในการส่งมอบหนทางการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใด และขณะที่เทคโนโลยีการเชื่อมต่อและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ยั่งยืนกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการสัญจรของผู้คนอย่างรวดเร็ว ฟอร์ดมุ่งมั่นในการนำเสนอความก้าวหน้าด้านการเดินทางที่ผู้บริโภคสามารถไว้วางใจได้
"ท่ามกลางการพัฒนาต่างๆ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความอดทนต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ น้อยลง และพวกเขาต้องการ มอบความสำคัญให้กับสิ่งที่สำคัญจริงๆ" คอนเนลลีกล่าว "ลักษณะของสังคมเช่นนี้ได้สะท้อนการทำงานของพวกเราที่ฟอร์ด รวมถึงความมุ่งมั่นของพวกเราในการส่งมอบหนทางแก้ไขปัญหาที่เชื่อถือได้เพื่อช่วยให้ชีวิตของผู้บริโภคดียิ่งขึ้น"
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคของฟอร์ดประจำปี 2018 ฉบับเต็มได้ที่ www.fordtrends.com