กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน เตรียมปั้นนักพัฒน์ฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ อีก 280 คน รับหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเพิ่มผลิตภาพแรงงาน กำหนดเปิดคลินิคผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 21 ธันวาคมนี้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน กพร. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจขับเคลื่อนผู้ประกอบกิจการและแรงงานให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2561 ได้ดำเนินคลินิคผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการ 185 แห่ง ประกอบด้วย สถานประกอบการ SME ที่มีพนักงาน 51-200 คน วิสาหกิจชุมชน/OTOP ที่มีพนักงานต่ำกว่า 50 คน กิจกรรมที่ดำเนินการในปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ดำเนินการ อาทิ จัดกิจกรรมด้านคลินิกผลิตภาพแรงงานสัญจร นำทีมพบเครือข่ายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อชี้แจงถึงความสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและวิธีดำเนินงาน แล้วนำคณะผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงดำเนินการฝึกอบรมให้กับพนักงานของสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน และการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทย
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2560 เป็นการบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายใน-ภายนอก แบบภาพกว้างและเจาะลึก เพื่อนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ไปประเมินหาวิธีการแก้ไข เป็นต้น โดยในวันนี้(19 ธันวาคม 2560) นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการอบรมพร้อมให้กำลังใจแก่ผู้เข้าอบรม ขอให้ตั้งใจเรียนรู้จากวิทยากร เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบกิจการต่อไป ซึ่งหลังจากการอบรมครั้งนี้แล้ว กพร.จะคัดเลือกบุคลากรเข้าอบรมแบบเข้มข้นอีกครั้งเพื่อให้ปี 61 มี "นักพัฒน์พันธุ์ใหม่" เพิ่มอีกอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน
สำหรับในปีนี้ กพร.ได้จัดทำคู่มือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางในการให้ปฏิบัติงานด้านการให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการ SMEs กลุ่ม OTOP และวิสาหกิจชุมชน เมื่อเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดเล็กและขาดกลาง ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น และมีความสามารถในการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรที่สูงขึ้นด้วย และที่สำคัญคือสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมั่นคง ที่ผ่านมา สามารถช่วยให้สถานประกอบกิจการ ลดการสูญเสียกระบวนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท อธิบดีกพร.กล่าว