กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานกิติมศักดิ์ ส.อ.ท. นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เลขาธิการ ส.อ.ท. นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสายงานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ส.อ.ท. เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 12 คณะ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ณ ห้องประชุม 2 ตึกสำนักงาน ก.พ.(เดิม) ถนนพิษณุโลก
ที่ประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการสานพลังประชารัฐได้ร่วมการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และรับทราบแผนการดำเนินโครงการในปี 2561 ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ คาดว่าการดำเนินโครงการและกิจกรรมในปี 2561 จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพคนและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีตัวอย่างโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เช่น
โครงการทัวร์ริมโขง : จุดหมายแห่งการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในระดับสากล
2) โครงการไทยเท่ทั่วไทย : การนำวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนวกนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม
3) โครงการยกระดับศักยภาพ SME ด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการ (Standardization) : เป็นการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพสำหรับ SME (หรือ QSME STANDARD) สร้างเกณฑ์มาตรฐานใหม่ที่เหมาะสมกับ SMEs สำหรับรายที่ยังไม่พร้อมจะไปสู่ระบบ ISO
4) พัฒนาการค้าเมืองชายแดนแม่สอด : เขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าปลีก-ส่งที่ใหญ่ที่สุดของไทย
5) โครงการพัฒนาภาคเกษตรผ่านโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ : การยกระดับเกษตรกรสู่ Smart Farmer เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรไทย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันภาคเกษตร
6) โครงการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด : การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนสู่ชุมชน
7) โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNNEXT ED) : การสร้างและขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการศึกษาไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐบาล
8) โครงการสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคีสานพลังประชารัฐ "Excellent Model School" : การพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาทั้งในมิติเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า "ท่านรองนายกได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการสานพลังประชารัฐถึงการทำงานในช่วงระยะเวลา 23 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเฟสแรกที่ได้สร้างความตระหนักรู้ (awareness) ได้เป็นอย่างดีและมีคนยอมรับมากขึ้น ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี แต่ที่เรื่องที่นำมาเสนอเข้ามามีจำนวนมาก จึงอยากให้จัดกระบวนทัพใหม่ (regroup) เพื่อให้ทำงานได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ต่อไปควรจัดให้มีการประชุมประจำเดือนเพื่อเสนอความคืบหน้า ส่วนการแบ่งกลุ่มใหม่อาจจะแบ่งเป็น 3 ด้านดังนี้ 1) ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 (อาจจะเอาเรื่องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเดิมมาได้) 2) ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 3) ด้านการพัฒนาคน อาจขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องมาเสริม รวมทั้งเพิ่มการรับรู้ให้กว้างมากขึ้น อาจจะนำหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาร่วมเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการปลดล๊อคต่างๆ ได้มอบหมายให้ นายสุวิทย์และนายกอบศักดิ์ช่วยติดตามว่าติดปัญหาใด เช่น พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น โดยหลังจากนี้จะพิจารณาแผนการทำงานรวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดอย่างชัดเจนก่อนที่จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ
ส.อ.ท. ชี้ควรเร่งพัฒนามาตรฐาน SME เจาะตลาดโลก
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงาน D2 การส่งเสริมเอสเอ็มอีและผลิตภาพ (SME & Productivity) กล่าวว่า โครงการที่ภาคเอกชน นำโดยสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ จะส่งเสริมในปีหน้า มุ่งเน้นใน 3 เรื่องคือ
1) การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรให้สามารถเพิ่มรายได้ให้ SMEs ผ่านโครงการ Big Brother ต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายจาก 50 รายเป็น 200 ราย
2) การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพสำหรับ SME (หรือ QSME STANDARD) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้ SME ขยายตลาดสู่สากลได้ ซึ่งจะร่วมมือกับสถาบันไอเอสโอในการพัฒนามาตรฐาน QSME ต่อไป
3) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับ SME โดยจะหารือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การนำระบบ Lean มาปรับใช้ในโรงงาน ซึ่งปัจจุบันสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่อยากจะขยายให้มากขึ้น ร่วมมือในนามประชารัฐเพื่อส่งเสริม SME ให้ได้มากที่สุด