กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--บล.เอเซีย พลัส
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินดัชนีหุ้นไทยปี 2561 จะขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ตลอดกาล (All-Time High) พร้อมปรับเพิ่มดัชนีฯ เป้าหมายมาที่ 1,815 จุด จาก 1,766 จุด กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นกลุ่มอิงเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่เชื่อว่าไตรมาสแรกปีหน้า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง
คุณภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปีหน้ายังปรับตัวขึ้นต่อ โดยดัชนีฯ เป้าหมายอยู่ที่ 1,815 จุด หนุนด้วยเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตได้ดี รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในบางไตรมาส
"ปีหน้าเรามองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดี กำไรตลาดก็มองดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ดัชนีฯ เป้าหมายขยับขึ้นจาก 1,766 มาเป็น 1,815 ถือว่าเป็นการทำ All-Time High ของตลาดหุ้นไทย" รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว
คุณภรณี กล่าวว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขยายตัวได้ในอัตรา 4.2% เทียบกับ 3.8% ในปี 2560 รับแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป การลงทุนภาคเอกชนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2560 หลังจากภาครัฐเร่งเดินหน้าการลงทุนไปก่อนหน้า การบริโภคครัวเรือนได้รับแรงกระตุ้นจากจากนโยบายภาครัฐ
ขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงกลางปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ยกเว้นฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ที่เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในปี 2561 หลังจากที่ปรับขึ้นในปี 2560 แล้ว เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ
สำหรับกำไรสุทธิตลาดในปี 2561 คาดไว้ที่ราว 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 113.57 บาท เติบโต 14.5% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ 1.07 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 110.4 บาท เติบโต 8.9% เทียบกับปี 2560 ที่คาดเติบโต 4.7% โดยกลุ่มธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีในปีหน้า ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มสื่อ-บันเทิง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีหน้าหุ้นไทยมีโอกาสทำ All-Time High ขณะที่การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหุ้น โดยใช้ พี/อีฯ ปี 2561 ราว 16 เท่า พบว่าใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโลกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หุ้นไทยอาจได้รับความน่าสนใจปานกลาง และหากดูผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย 2 ปี (2559-2560) รวมกัน สูงถึง 30% ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน โดยเป็นรองเพียงตลาดหุ้นสหรัฐฯเท่านั้น ดังนั้นแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีหน้า แม้จะปรับขึ้นต่อได้ แต่ก็มี upside จำกัด
คุณภรณี กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาสแรก ปี 2561 ว่า กรอบการเคลื่อนไหนของดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,693-1,744 จุด มีค่าพี/อีฯ ราว 16.5-17 เท่า กลยุทธ์การลงทุนให้เน้นเลือกหุ้นรายตัว ที่อิงกับ 3 ธีมหลัก คือ หุ้นที่คาดหวังเงินปันผลได้สูง มีพี/อีฯ ไม่สูงมาก และแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโต คือ PTTEP และ INTUC หุ้นที่ได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนรอบใหม่ คือ STEC, SEAFCO, WHA, TK และหุ้นที่เกาะกระแสไลฟ์สไตล์สังคมเมืองที่นิยมใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น คือ PLANB และ RS
ส่วน Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาตินั้น หลังสหรัฐฯ ใช้นโยบายการเงินตึงตัว โดยทยอยยกเลิกการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ตั้งแต่กลางปี 2557 พร้อมทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปลายปี 2558 และลดขนาดของสินทรัพย์ช่วงปลายปี 2560 ทำให้ต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง จนยอดซื้อสุทธิสะสมลดลง จากที่เคยสูงสุดช่วงเดือนมีนาคม ปี 2556 ที่ 4.69 แสนล้านบาท ลงมาเหลือเท่ากับศูนย์ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2559 แต่หลังจากนั้น ต่างชาติก็กลับมาซื้อสุทธิในปี 2559 สูงสุดราว 1.48 แสนล้านบาท
ส่วนปี 2560 เข้ามาซื้อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องถึงกลางเดือนตุลาคม ยอดซื้อสะสมสูงสุดกว่า 2.26 หมื่นล้านบาท และช่วงที่เหลือของปี 2560 ขายสุทธิ และซื้อสลับขายจนถึงสิ้นปี คาดว่าจะทำให้มีฐานะเป็นขายสุทธิในปี 2560 ราว 1.90 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต่างชาติมีฐานะการถือครองหุ้นไทยเพียง 31.24% ใกล้ระดับต่ำสุดที่ 28.53% จึงมีโอกาสกลับมาซื้อสะสมรอบใหม่ ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าจะกลับมาซื้อในช่วงไตรมาสแรก