บีโอไอปรับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และจักรยานยนต์ หวังดึงค่ายใหญ่ตั้งฐานผลิต-ส่งออกรถเก๋ง และบิ๊กไบท์ในไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2007 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--บีโอไอ
บีโอไอให้ส่งเสริมผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หวังจูงใจค่ายใหญ่ลงทุนเพิ่ม พร้อมปรับเงื่อนไขส่งเสริมการผลิตรถมอเตอร์ไซต์ขนาดใหญ่ เพื่อดึงผู้ผลิตบิ๊กไบท์ตั้งฐานการผลิตในไทย
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการ รวมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการส่งเสริมการประกอบรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ให้จูงใจผู้ผลิตมากยิ่งขึ้น
“ ที่ผ่านมา มาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตันแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อชักจูงให้มีการสร้างฐานการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดการผลิตและลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวในตลาดส่งออก“ นายโฆสิตกล่าว
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า เงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้น จะต้องมีปริมาณการผลิตจริงไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปี ในปีใดปีหนึ่งภายในระยะเวลา 5 ปีแรกของการผลิต จะต้องเป็นการผลิตรถที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานโครงรถเดียวกัน ตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และจะต้องมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ของการยกเว้นภาษีเงินได้ รวมทั้งจะต้องเสนอแผนการลงทุนผลิตชิ้นส่วนและการใช้ชิ้นส่วนด้วย
นายสาธิตกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของกิจการประกอบรถจักรยานยนต์ประเภท 4 จังหวะ (เครื่องยนต์มากกว่า 500 ซีซี) เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยจะไม่มีการกำหนดขนาดของกำลังการผลิต ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องมีกำลังการผลิตเกินกว่า 50,000 คันต่อปี รวมถึงจะไม่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทย จากเดิมที่กำหนดว่าต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียน ซึ่งคาดว่าจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาเพื่อผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ โครงการประกอบรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต แต่หากมีขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการผลิตเครื่องยนต์ โดยเริ่มจากการ Machining ชิ้นส่วนหลักของเครื่องยนต์ ได้แก่ Cylinder Head และ Crank Case จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 — 8 ปี ตามเขตที่ตั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ