กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ในขณะที่ เทศกาลเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่เพื่อความสุขความบันเทิงของคนไทยกำลังจะมาถึง แต่มักจะกลายเป็นช่วงเวลาที่จะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเจอกับความโศกเศร้าและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ จึงได้ร่วมกับ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยผลสำรวจ โพล เรื่อง พฤติกรรมเสี่ยงคนไทย กับความไม่ปลอดภัยทางถนน จำนวนทั้งสิ้น 1,196 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
เมื่อสอบถามถึง พฤติกรรมเสี่ยงของประชาชน กับ ความไม่ปลอดภัยทางถนน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.9 ระบุ รถเมล์โดยสารที่มีผู้โดยสารเบียดแน่นในรถ รองลงมาคือ ร้อยละ 60.9 ระบุ ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือซ้อนรถจักรยายนต์ ร้อยละ 60.8 ระบุ รถโดยสารสองแถวที่มีผู้โดยสารเบียดแน่นในรถ ในขณะที่ร้อยละ 53.3 ระบุ รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินกฏหมายกำหนด ร้อยละ 51.9 ระบุ ขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด และร้อยละ 50.2 ระบุ โทรแล้วขับขี่รถ/จักรยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.6 ระบุ รัฐควรลงทุนให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน รองลงมาคือ ร้อยละ 46.7 ระบุ รัฐควรลงทุนเทคโนโลยีการบังคับใช้กฏหมาย กล้องตรวจความเร็ว ร้อยละ 38.6 ระบุ รัฐควรลงทุนหน่วยสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 37.2 ระบุ รัฐควรลงทุนฐานข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 29.5 ระบุ รัฐควรลงทุนให้หน่วยงานจัดการพื้นที่มีความเข้มแข็ง และร้อยละ 26.1 ระบุ ให้ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆร่วมลงทุนเทคโนโลยีติดกล้องตรวจจับ, เครื่องตรวจเมา
ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 ระบุ เห็นด้วยต่อการมีสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ในขณะที่ 9.2 ระบุ ไม่เห็นด้วย