กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 ในหัวข้อ "น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า การพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดความยั่งยืนภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงสร้างต้นแบบ และพระราชทานบทเรียนในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวคิด คำสอนและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงศึกษาอย่างเป็นระบบ ด้วยการหาความรู้จากเอกสาร การลงพื้นที่จริง การค้นคว้าทดลองและลงมือปฏิบัติจริง จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่มีพื้นฐานบนความเป็นจริง มีเหตุมีผล และปฏิบัติได้จริง หรือเรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" โดยคำสอนที่พระองค์ได้ทรงเตือนสติให้คนไทย คือ "รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง" เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอย่างแท้จริง มีการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก มุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดทำงานร่วมกันแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นำพาภาคเกษตรของประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรไทย รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ลูกหลานในอนาคต โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพ รอดพ้นจากวิกฤติต่าง ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุล มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ของการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า หลักการทรงงานของพระองค์ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงพระราชทานแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน - แก้ปัญหาดินเสีย การพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ หรือ "ฝนหลวง" โดยขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการพัฒนาจนสามารถใช้ต้นทุนการทำฝนหลวงเพียง 12 บาท ต่อไร่ และจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำของข้อมูลด้านเกษตรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จึงได้เสนอแนวทางว่า กระทรวงเกษตรฯ ควรมีดาวเทียมที่ทันสมัยและมีความแม่นยำของข้อมูลมากที่สุด โดยอยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัด เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องดิน น้ำ ข้อมูลการชะล้างหน้าดินที่รุนแรง ผลกระทบจากภัยแล้ง ข้อมูลบริเวณที่อาจจะเกิดน้ำท่วม เป็นต้น ควบคู่กับการน้อมนำศาสตร์พระราชามาส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการด้านการเกษตรด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยแนวทางดังกล่าวจะมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นๆ ต่อไป
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ1. เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2560 พร้อมทั้งปัจจัยและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา และคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 รวมทั้งสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนและ 2. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนเกษตรกร เกี่ยวกับ "ศาสตร์พระราชา" เพื่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้มีความยั่งยืนและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาร่วมกันขยายผลให้เห็นความสำคัญและน้อมนำไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินชีวิต โดยช่วงเช้า จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง "ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 และแนวโน้มปี 2561" การอภิปราย หัวข้อ "เดินตามรอยเท้าพ่อ สานต่อเกษตรอย่างยั่งยืน" และช่วงบ่าย เป็นการอภิปราย หัวข้อ "พลิกโฉมเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ ด้วยศาสตร์พระราชา" โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย บุคลากรภาครัฐ นักวิชาการ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 550 คน