กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--Hermes Public Relations
เมื่อสัปดาห์ก่อน ณ ลานวัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน กลายเป็นพื้นที่ให้ รมว.ทส. พบปะพี่น้อง เมืองน่านลุยแก้ปัญหาเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาป่าไม้และที่ทำกินของชาวบ้านจำนวนมากคืนความสุขให้ประชาชนลดความขัดแย้งราษฎร์-รัฐ ตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่ 17 ประเด็น ประกาศมอบของขวัญปีใหม่เรื่องป่ากับคนบนหลักการ 5 อย่าง 1) ป่าไม้ไทยอุดมสมบูรณ์ 2) เกื้อกูลการพัฒนา 3) ปวงประชามีสุข 4) ปลูกป่าในใจคน และ 5) เปี่ยมล้นสามัคคี ให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เริ่มนำร่องจังหวัดน่าน
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยรับราชการทหาร ได้น้อมนำแนวทางพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชใส่เกล้าฯ เสมอมาว่า "ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของแผ่นดิน" ดังนั้น "ทุกข์ของประชาชน ก็เป็นทุกข์ของทหารด้วย" มาวันนี้ จึงมีเจตนาเพื่อมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ จากพี่น้อง ประชาชนโดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาในฐานะตัวแทน ของรัฐบาลที่พร้อมนำปัญหาไปดำเนินการแก้ไข
"ก่อนการลงพื้นที่ได้ศึกษาปัญหาของชาวบ้านมาตลอดและวันนี้มาพบว่ามีความสอดคล้องกันกับเสียงของประชาชนในพื้นที่ จึงแบ่งกลุ่มปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม และใช้ 4 แนวทางในการแก้ไขคือ กลุ่ม 1 เป็นประเด็นที่ สามารถทำได้ทันที กลุ่ม 2 เป็นประเด็นที่พอดำเนินการได้ แต่อาจต้องแก้ไขระเบียบหรือจัดให้มีมาตรการต่างๆ ซึ่งต้องมีการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงาน กลุ่ม 3 เป็นประเด็นที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินยาว ต้องแก้ไข กฎหมาย กลุ่ม 4 เป็นประเด็นที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าหากเป็นประเด็นที่ดีมาก อาจเสนอให้มีการพิจารณาใช้ มาตรา 44 ตามความเหมาะสม เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่เริ่มนำร่องให้ดูที่จังหวัดน่าน" รมว.ทส. กล่าว
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทุกนโยบายรัฐบาลมีทั้งด้านบวกและลบ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ประชาชนชาวบ้าน การรับฟังความต้องการของประชาชนหรือชาวบ้านโดยตรงว่าต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ อยากได้ และสามารถทำได้ทันทีก็จะได้รีบดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ต้นน้ำราษฎรทำกิน มาต่อเนื่อง และเป็นเงื่อนไขที่ต้องเร่งรัดดำเนินการด่วนที่สุด โดยวิถีของ เป็นประชารัฐ เป็นมวยมุมเดียวกัน ไม่ใช่มวยคนละมุม
ผลจากการพบปะพี่น้องเมืองน่าน พบข้อมูลที่แม้จะมาจากต่างที่ ต่างอำเภอ แต่ก็พอจะประมวลได้ 17 ประเด็น คือ
1. ขยายผลแนวทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล
2. ส่งเสริมกิจกรรม ป่าครอบครัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ
3. จัดให้มีการแบ่งเขตป่าหรือพื้นที่ของภาครัฐให้ชัดเจน
4. จัดให้มีการสื่อสาร ถ่ายทอดคำสั่งจากภาครัฐลงสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึงและชัดเจน
5. มีระบบการตอบแทนผู้ที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดค่าไฟฟ้า
6. มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ประชาชน
7. ยอมรับข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่ท้องถิ่นกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกติกาการดูแลรักษาป่า และให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อ กำหนดของกฎหมายของภาครัฐ
8. ขยายผลกิจกรรม "สวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย"
9. ปลดล็อกให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณในกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ของภาครัฐได้ 10.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าไม้เศรษฐกิจ เช่น ไผ่
11. เพิ่มการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน
12. หามาตรการผ่อนปรนหรือแก้ปัญหาหนี้สินของราษฎร ที่ทำกินในพื้นที่ทับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
13. จัดทำโครงการแปลงต้นไม้เป็นทุนหรือให้สามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
14. จัดการเอกสารสิทธิที่ดิน
15. สามารถเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิตที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ของรัฐได้โดยไม่ถูกจับกุม ดำเนินคดี
16. สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่ายขึ้น และจัดให้มีข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องและครบถ้วน
17. จัดให้มีการฝึกฝนทักษะเป็นผู้ประกอบการให้ประชาชน
พลเอกสรุศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้มอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำได้ทันทีว่า จะใช้แนวทางการดำเนินการที่สะดวกและมีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว คือการใช้อำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ในการออกคำสั่งต่างๆ อาทิ กรณีพื้นที่ในป่าสงวน สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยใช้อำนาจอธิบดีกรมป่าไม้ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ เช่นพื้นที่ป่าสงวนมีคนเข้าไปอยู่ประมาณ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งจัดไปแล้วกว่าแสนไร่ ดังนั้นในส่วนที่เหลือก็ต้องออกแบบการอนุญาตให้สามารถเข้าไปทำกินในรูปแบบอื่นๆต่อไป ส่วนพื้นที่ในอุทยาน ฯ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ข้างต้นผ่าน ครม. รับหลักการไปแล้ว ตอนนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา หากแล้วเสร็จก็เข้ากระบวนการของวิปส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามลำดับ ซึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้ให้แนวคิดว่า ในขณะที่พื้นที่มีจำกัด การกระจายสิทธิทำกินควรดำเนินการในลักษณะการจัดการเป็นกลุ่มหรือชุมชน ไม่ใช่รายปัจเจก และหากชุมชนใดพร้อมก่อน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการออกแบบ และวางแผนร่วมกันถึงรูปแบบกิจกรรมการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้พร้อมไปกับการยังคงให้ป่าทำหน้าที่ป่าต้นน้ำได้ นั่นคือ การยึดหลักการว่า "รัฐได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน"
ในการนี้ ได้มีข้อเสนอจากราษฏรที่ร่วมเวทีถึงแนวทาง ธนาคารต้นไม้ และการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแทนการปลูกพืชเกษตร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้ตอบว่า แนวทางนี้ได้มีข้อเสนอมาแล้วจากหลายภาคส่วนและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจะจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่องนี้ต่อไป พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศว่านับจากนี้ไป กรมป่าไม้จะปรับบทบาทจากการทำหน้าที่เพาะและแจกกล้าไม้ มาเป็นศูนย์เรียนรู้เพาะชำตำบล และจะใช้กลไกของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เป็นโซ่ข้อกลางในการประสานการดำเนินการ และอาจมีการเพิ่มหน่วยประสานและส่งเสริมของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯในพื้นที่จังหวัดน่านให้มากขึ้น ต่อกรณี ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น จะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกันสำรวจและดำเนินการ
ทั้งนี้ จะใช้วัดโป่งคำ เป็นหน่วยประสานการดำเนินงานและติดตามความผลความคืบหน้า เป็นระยะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้กล่าวถึง เป้าหมายของการดำเนินงานด้านป่าไม้ ในปี พ.ศ.2579 ว่า ต้องมีการปรับใน 5 ข้อ คือ 1) ป่าไม้ไทยอุดมสมบูรณ์ 2) เกื้อกูลการพัฒนา 3) ปวงประชามีสุข 4) ปลูกป่าในใจคน และ 5) เปี่ยมล้นสามัคคี
หลังปิดเวทีเสวนา ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงสาเหตุที่เลือกมาลงพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้งที่ปัญหาป่าไม้-ที่ดินเกิดทั่วประเทศ ทำไมต้องเป็นน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบว่าพื้นที่น่านเป็นพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 15 อีกร้อยละ 85 เป็นพื้นที่ลาดชัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 การแก้ปัญหาจำเป็นจะต้องใช้หลักทางรัฐศาสตร์เข้ามาช่วย นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติศาสตร์ เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ย้ำว่าสำหรับนโยบายทวงคืนผืนป่า จะยังเดินหน้า แต่ดำเนินกับนายทุน ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลก็มีนโยบายในด้านการเยียวยา
แหล่งข่าวกล่าวว่า การลงพื้นที่พบปะพี่น้องเมืองน่านโดยตรงของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งนี้ ได้สั่งห้ามมีการต้อนรับแบบดั้งเดิมที่เคยทำในยุคสมัยอดีตด้วยการตั้งแถวขบวนนำมากมายโดยเปลี่ยนเป็นให้ชาวบ้านนั่งอยู่แถวหน้าๆ อย่างใกล้ชิดและรัฐมนตรี สุรศักดิ์ อยู่กับพี่น้องชาวน่านทั้งวัน จึงหวังให้เป็นแบบอย่าง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลและ คสช.ได้อยู่ในใจประชาชนคนไทยทั้งประเทศแบบไม่เสียของตลอดไป