กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแถลงข่าว “โครงการสำรวจขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทย ประจำปี 2550” เพื่อวัดระดับความสามารถด้านนวัตกรรมขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเป็นข้อมูลที่จัดเก็บในระหว่างเดือนมีนาคม — กันยายน 2550 แบ่งการสำรวจเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลทัศนคติของผู้บริหารระดับสูง (CEOs) จำนวน 100 คน และข้อมูลการดำเนินกิจกรรมด้านนวัตกรรมของบริษัทที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงจำนวน 1,000 บริษัท
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ”การดำเนินโครงการสำรวจขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทย ประจำปี 2550 ที่จัดทำขึ้นนี้ นับได้ว่าเป็นการสำรวจระดับการพัฒนานวัตกรรมในภาคเอกชนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเปรียบเทียบระดับการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท และในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมโดยรวมก็จะสามารถมองเห็นทิศทางและแนวโน้มการเจริญเติบโตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
ศ.ดร. อัจฉรา จันทร์ฉาย ที่ปรึกษาโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การสำรวจทัศนคติของผู้บริหารระดับสูง (CEOs) จากทั่วประเทศจำนวน 100 บริษัท โดยเป็นการสอบถามเกี่ยวกับระดับความสามารถด้านนวัตกรรมขององค์กรภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้ตัวแปรหลัก 3 ตัวแปร ในการวัดศักยภาพ คือ การสร้างความรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการนำความรู้ในองค์กรไปใช้ในการเพิ่ม
ขีดความสามารถขององค์กร จากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นระดับความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation Capability Confidence Index) ในปี 2550 เท่ากับ 68.2 ซึ่งหมายความว่าในปี 2550 นี้ กลุ่มผู้บริหารระดับสูงมีความเชื่อว่าองค์กรของตนมีระดับความสามารถในการทำนวัตกรรมอยู่ที่
ร้อยละ 68.2 ซึ่งเป็นค่าคะแนนที่สะท้อนระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัทที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงในประเทศไทย”
ศ.ดร. อัจฉราฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สำหรับในส่วนการสำรวจข้อมูลการดำเนินกิจกรรมด้านนวัตกรรมของบริษัทจำนวน 1,000 บริษัท เป็นการสำรวจเฉพาะบริษัทในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมธุรกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพร อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการออกแบบและการสร้างตราสินค้า อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร พบว่า ร้อยละ 71.7 ของบริษัทที่ทำการสำรวจจะทำนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยจะดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ยปีละ 2.2 โครงการต่อบริษัท”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. เปิดเผยว่า “จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและพัฒนาและการสร้างความมั่งคั่งของบริษัท พบว่า บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงยังไม่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อ “ขาย” ในลักษณะของการขายทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท แต่มุ่งเน้นที่จะสร้างรายได้จากการผลิตเพื่อจำหน่ายเองมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำ (ร้อยละ 0 — 0.5 ของรายได้) จะส่งผลให้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำตามไปด้วย แต่หากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงในระดับหนึ่ง (มากกว่าร้อยละ 5 ของรายได้) จะนำไปสู่การสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำนั้น แทบจะไม่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของบริษัทในระดับที่มีนัยสำคัญเลย ซึ่งหากบริษัทต้องการสร้างรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น บริษัทจะต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ จึงจะทำให้เกิดรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชัดเจน”
“ในแง่ของนโยบายนวัตกรรมเท่ากับว่าภาครัฐอาจจะต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากกว่าร้อยละ 5 เช่นกัน นโยบายที่เน้นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.5 หรือแม้แต่ร้อยละ 1.0 จึงไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า บริษัทที่มีการแข่งขันสูงจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดปีละ 2.2 ผลิตภัณฑ์ต่อปี โดยบริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 56.6 จะอาศัยแหล่งข้อมูลในการทำนวัตกรรมจากลูกค้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มีบริษัทเพียงร้อยละ 36.9 เท่านั้น ที่มีระบบจูงใจและส่งเสริมให้พนักงานสร้างนวัตกรรม” นายศุภชัยฯ กล่าว