กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทีมลงพื้นที่ 29 จังหวัด ติดตามผลดำเนินการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ เผยเสร็จสิ้นทั่วประเทศภายในเดือนธันวาคม 2560 แนะใช้ชีววิธีป้องกันการระบาดซ้ำ
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทีมเจ้าหน้าที่กำกับติดตามการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ตามโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการระบาดของหนอนหัวดำมากที่สุด ประมาณ 2.3 ล้านต้น ฉีดสารเคมีเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไปแล้ว ประมาณ 2.2 ล้านต้น คิดเป็นร้อยละ 94 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2560) ทั้งนี้ ภาพรวมของประเทศมีต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลาย จำนวน 2.6 ล้านต้น ใน 29 จังหวัด คาดว่าการดำเนินการฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวจะสามารถทำได้ครบ ทั้ง 2.6 ล้านต้น ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560 นี้
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการกำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าวที่มีความสูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญมากกับการนำสารเคมีไปใช้ให้ถูกต้อง มีการอบรม ฝึกปฏิบัติตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ รวมถึงการกำกับติดตามทีมปฏิบัติว่าจะต้องเข้าไปดำเนินการตามเป้าหมายแต่ละวันในพื้นที่ใดบ้าง ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ได้แนะนำหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างดำเนินการไปด้วยดี
"สิ่งสำคัญอย่างมากคือ การควบคุมไม่ให้หนอนหัวดำกลับมาระบาดในพื้นที่อีก ซึ่งเจ้าของสวนและชุมชนจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง สังเกต ทำแปลงติดตามสถานการณ์ ถ้าพบลักษณะที่เป็นการทำลายของหนอนหัวดำ สิ่งที่หวังก็คือการใช้วิธีการผสมผสาน โดยตัดทางใบ ทำความสะอาดแปลงและสวนไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูมะพร้าว และที่สำคัญการใช้ศัตรูทางธรรมชาติแตนเบียนบราคอนในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้หนอนหัวดำกลับมาระบาดอีก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะให้คำแนะนำชุมชนผลิตแตนเบียนบราคอนเอง สำหรับ จ. ประจวบฯ ก็มีหลายชุมชนรวมตัวกัน ในชื่อ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ที่ช่วยกันผลิตและนำมาปล่อยในพื้นที่ระบาด ซึ่งถ้าทำอย่างต่อเนื่องปัญหาของหนอนหัวดำจะไม่กลับมาระบาดในพื้นที่อีก" รองอธิบดีฯ กล่าว