กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--Siam PR. Consaltant
ภายหลังจากที่มีรายงานข่าวว่ากรมสรรพสามิตจะหาทางออกประเด็นปัญหาภาษีบุหรี่ที่โรงงานยาสูบร้องเรียนมาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้นั้น รศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ หากรีบร้อนแก้ไขระบบภาษีอาจสร้างปัญหาใหม่ๆ และทำให้การปฏิรูปล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากปกติเมื่อมีการขึ้นภาษีแต่ละครั้ง ตลาดต้องใช้เวลา 3-4 เดือนในการปรับตัวอยู่แล้ว ส่วนการขึ้นภาษีเมื่อ 16 ก.ย. ที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วจึงมีการเร่งชำระภาษีไว้ก่อนการประกาศอัตราภาษีใหม่ จึงยิ่งทำให้สภาพตลาดหลังวันที่ 16 ก.ย. มีความผันผวนมากว่าปกติ และจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นก่อนที่ตลาดจะเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ดังนั้น การที่รัฐจะสรุปหาทางแก้ปัญหาเรื่องภาษีบุหรี่ภายสิ้นปีนี้จึงถือว่าเร็วเกินไป ควรรอดูสถานการณ์ต่ออีกสักระยะหนึ่ง
รศ.ดร.อรรถกฤต วิเคราะห์ถึงตัวเลขการจัดเก็บภาษียาสูบของกรมสรรพสามิตหลังประกาศใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ว่า การที่ยอดภาษียาสูบที่เก็บได้ในเดือน ต.ค. 60 ลดฮวบเหลือเพียงกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 56% และต่ำกว่าเป้าไปถึง 48% นั้น เป็นเพราะการเร่งชำระภาษีของผู้ประกอบการตั้งแต่เดือน ส.ค. 60 แต่ในเดือน พ.ย. 60 จะเห็นได้ว่ายอดจัดเก็บภาษียาสูบกระเตื้องขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เก็บได้ถึง 5.7 พันล้านบาท เกินเป้าถึง 44% เป็นสัญญาณว่าตลาดกำลังค่อยๆ กลับตัวเข้าสู่เสถียรภาพแล้ว
"โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้น 20%-50% จึงเป็นธรรมดาที่จะทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งลดหรือเลิกสูบบุหรี่ไปเลย บางส่วนหันไปสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่ามาก ขณะที่บางส่วนก็หันไปซื้อบุหรี่หนีภาษีที่ทะลักเข้ามาตามชายแดนกันมากขึ้น ดังนั้น แม้อัตราภาษีบุหรี่จะสูงขึ้น แต่เมื่อปริมาณบุหรี่ถูกกฎหมายที่บริโภคในประเทศลดลง ยอดภาษีที่จัดเก็บได้ในช่วงเริ่มต้นนี้ย่อมไม่ได้เพิ่มขึ้นหวือหวา แต่เชื่อว่าเมื่อตลาดเริ่มปรับตัวได้แล้ว ยอดรายได้ภาษีน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นด้วยระบบภาษีแบบผสมที่เก็บภาษีทั้งตามปริมาณและตามมูลค่า" " รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้เปิดเผยว่าในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 60 สามารถจับกุมบุหรี่ผิดกฎหมายได้กว่า 6 ล้านมวนซึ่งคิดเป็นมูลค่าภาษีกว่า 27 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งกรมศุลกากรก็จับกุมบุหรี่หนีภาษีได้ในช่วง ก.ย.-พ.ย. 60 ได้แล้วกว่า 43 ล้านมวน
รศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงสร้างภาษีที่ดีต้องยึดหลักความเป็นธรรม ไม่ปกป้องผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เดียวกัน แข่งขันกันภายใต้กติกาเดียวกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและแข่งขันได้ ตามหลักการของระบบการค้าเสรีและกฎหมายการค้าโลก และช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับระบบภาษีของไทยได้อย่างแท้จริง