กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พร้อมจับมือภาคประชาชนสำรวจแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มรองรับปริมาณน้ำแก้ปัญหาแล้งท่วมแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เล็งฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กใช้ในชุมชนตามแนวพระราชดำริ
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 25– 26 ธันวาคม 2560 ณ จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย โดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงบินสำรวจแหล่งกักเก็บน้ำลุ่มน้ำยม ก่อนเดินทางไปยังหอประชุมวัดดอนชัย ม.1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ว่า จากการพบประชาชน พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความจำเป็นเกี่ยวกับความต้องการในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ พบว่า มีความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ต.สะเอียบ เบื้องต้นจำนวน 4 อ่าง ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยอ่างฯ จะมีขนาดความจุที่แตกต่างกันมีทั้งขนาดความจุตั้งแต่ 2.6 ล้านลูกบาศก์เมตร 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแต่ก็สามารถดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมาย และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จก่อน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการเริ่มก่อสร้างโครงการภายในระยะเวลา 1 ปี อาจะไม่แล้วเสร็จทั้งหมดแต่ก็คาดว่าจะเริ่มต้นโครงการได้
"แนวคิดการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ต.สะเอียบ จ.แพร่ เป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมสำรวจ จากแนวทางที่ชาวบ้านได้สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กๆ หลายๆ แห่ง มีการสร้างฝาย สร้างทำนบเอง ดังนั้น อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง หรือ สะเอียบโมเดล ที่เกิดขึ้นโดยผู้นำขาวบ้านร่วมสำรวจกับกรมชลประทาน องค์กรท้องถิ่นรวมขนาดความจุด 20 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ก็น่าจะมีความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นในระยะของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แทนที่เราจะต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น แก่งเสือเต้น ที่ไม่น่าจะมีทางเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้ง 4 แห่งยังไม่เพียงพอในการเก็บกักปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ทางกรมชลประทานจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีการศึกษาพื้นที่เก็บน้ำขนาดเล็กไว้แล้ว 70 กว่าแห่งซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำในช่วยฤดูฝน กรมชลประทานก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในจุดใดได้บ้างต่อไป รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมในการฟื้นฟูวิถีชีวิตการลงแขกสร้างแหล่งน้ำในชุมชนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ไนไร่นา การขุดลอกหนองน้ำขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางศาสตร์พระราชาเรื่องการจัดการแหล่งน้ำด้วย" ดร.วิวัฒน์ กล่าว
สำหรับในช่วงบ่ายผมได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ณ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ม.15 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยมีผู้แทนกรมชลประทาน กรมประมง กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และมณฑลทหารบกที่ 39 บรรยายสรุป ก่อนพบปะประชาชน และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรบริเวณโครงการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมพื้นที่หน่วงน้ำบางระกำ "โครงการบางระกำโมเดล" จ.พิษณุโลก ที่ทางกรมชลประทาน ได้กำหนดพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ โดยจะส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่เดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะเป็นช่วงน้ำหลาก จากนั้นจึงรองรับน้ำหลาก ด้วยพื้นที่หน่วงน้ำ 265,000 ไร่ สามารถรับน้ำได้ 500 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าว มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ อีก เช่น การทำประมง การทำน้ำปลา และการทำปลาร้า ในช่วงที่มีน้ำขังได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมขยายผลโครงการดังกล่าวไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันบางระกำต่อไป