กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--โฟร์พีแอดส์ (96)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งอาหารและเครื่องสำอางที่ผสมสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานกว่า 190 รายการ พร้อมส่งเสริมช่องทางการตลาดจนเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังร่วมงาน แถลงข่าว "สินค้าไทย ไว้ใจได้ พัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี อัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่สมุนไพรไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพไทยได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ จัดทำโครงการบูรณาการ "การพัฒนาคุณภาพสมุนไพร ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน" เพื่อพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน พัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนในการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการจำหน่ายสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การควบคุมคุณภาพในด้านต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ได้แก่ สถานที่เก็บวัตถุดิบและสารเคมี สถานที่ผลิต จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ผสมสมุนไพร ทั้งทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา เพื่อให้การผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน ภายหลังการส่งเสริมการพัฒนาแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ผลิตได้จากผู้ประกอบการ จนมีคุณภาพมาตรฐานจำนวน 198 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นผลิตเครื่องสำอางสมุนไพร จำนวน 116 รายการ และผลิตภัณฑ์อาหารผสมสมุนไพร จำนวน 82 รายการ
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามความก้าวหน้าในการปรับปรุงการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยทำงานบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้แก่ การปนเปื้อนเชื้อ ความไม่คงตัวของผลิตภัณฑ์ การปนเปื้อนโลหะหนัก การเตรียมตัวอย่างสมุนไพรในตำรับ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ส่งเสริมด้านการตลาด โดยหาช่องทางให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านมาตรฐานได้ไปจำหน่ายที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมและที่อื่นๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ ทำให้มีเครือข่ายของผู้ใช้สินค้าและเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ