กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่สี่ต่อเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี และสงขลา ที่เป็นต้นแบบของการจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป
ในการดำเนินโครงการ กระทรวงการคลังได้นำส่งรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในจังหวัดพิษณุโลก จากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 14,883 คน และมีมูลหนี้ นอกระบบ รวมเป็นเงิน 880.76 ล้านบาท หรือมีมูลหนี้เฉลี่ย 59,178.67 บาทต่อคน ส่งให้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ติดต่อนำลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายมาเข้าสู่กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ พิจารณาช่วยเหลือด้านสินเชื่อและดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบประจำจังหวัดพิษณุโลก และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดพิษณุโลก
กระทรวงการคลังยังได้จัดกิจกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ได้รับการต่อยอดการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจรในด้านการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ณ ห้องพิษณุโลก คอนเวนชั่น โรงแรมอมรินทร์ลากูน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาทางการเงินหนี้ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. การให้คำปรึกษาทางกฎหมายของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพิษณุโลก การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) กิจกรรมสาธิตอาชีพ 6 อาชีพ การอบรมหัวข้อ "การจัดทำบัญชีครัวเรือน" โดยวิทยากรจากธนาคารออมสิน การอบรมหัวข้อ "แนวทางการหารายได้เสริม" โดยวิทยากรจาก ธ.ก.ส. กิจกรรมส่งเสริมการออม หัวข้อ "ออมสบาย ได้บำนาญ กับกองทุนการออมแห่งชาติ" และการบรรยายความรู้เพื่อประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของ "โครงการบริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ" โดยวิทยากรจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ภายในงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติมอบนโยบายเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย" โดยกล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงการคลังจึงได้ออกแบบกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ครบวงจร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนรวมถึงจะมีการเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ดำรงธรรมอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ในการขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์และเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเร่งด่วนให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยการใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายและเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ การสร้างให้มีคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด การจัดให้มีแหล่งเงินทุนทดแทนการกู้ยืมนอกระบบจากธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตลอดจนการดูแลฟื้นฟูศักยภาพของลูกหนี้ โดยในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังจะมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมให้ผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐได้รับการฝึกทักษะอาชีพและสร้างโอกาสการทำงานให้อย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบหรือได้รับสินเชื่อไปแล้ว ขอให้ช่วยกันรักษาวินัยในการใช้จ่ายและชำระหนี้ มีการทำบัญชีครัวเรือน สะสมเงินออม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบ สามารถหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวขอเชิญชวนผู้สูงอายุที่มีกำลังความสามารถ ร่วมกันบริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้า "กองทุนผู้สูงอายุ" ซึ่งจะมีการจัดสรรเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จำนวน 3.6 ล้านคน ถือเป็นการจุนเจือสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมกัน มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 5 ราย และมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหาหนี้นอกระบบในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 484 ราย เป็นเงิน 22.16 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ร่วมเปิดโครงการ "ตลาดบุญวัดใหญ่ อุ่นใจไร้เงินสด" ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล โดยสร้างให้เกิดต้นแบบการชำระเงินผ่านระบบ QR Code ในรูปแบบที่หลากหลาย และสนับสนุนให้ประชาชนได้ทำธุรกรรมชำระเงินค่าซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงทำบุญบริจาคเงินให้กับวัดหรือองค์กรสาธารณกุศลในโอกาสต่าง ๆ ผ่านการใช้ QR Code ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทรศัพท์สายด่วน 1359