กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
มรภ.สงขลา อบรมเพิ่มขีดความสามารถชาวชุมชนสตูล รองรับภัยพิบัติพื้นที่ชายฝั่ง เผยภาคใต้เสี่ยงได้รับผลกระทบสูง เร่งวางแนวทางป้องกัน พร้อมกระตุ้นคนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือ
ดร.มุมตาส มีระมาน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล ผู้เสนอโครงการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน เพื่อรองรับการเกิดภัยพิบัติพื้นที่ชายฝั่ง จ.สตูล เมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.60 ณ วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดภายในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สึนามิ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่าจากประเทศอินโดนิเซีย ทั้งยังประสบภัยดินถล่ม ถ้ำถล่ม หลุมยุบ ถ้ำยุบ น้ำท่วม ภาวะแล้ง เป็นต้น ตนจึงจัดอบรมให้กับตัวแทนชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือวิกฤตการณ์ต่างๆ ข้างต้น และเพื่อกำหนดแนวทางเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่นำร่องบริเวณชายฝั่งสตูล พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง คัดเลือกกิจกรรมหรือแนวทางการป้องกันภัยพิบัติในชุมชน ฝึกจัดลำดับความสำคัญ และนำเสนอการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรองรับการเกิดภัยพิบัติ
ดร.มุมตาส กล่าวว่า การบริหารภัยพิบัติและการบริหารวิกฤติในภาวะฉุกเฉิน เป็นประเด็นที่ท้าทายที่ประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับ และบริหารจัดการความเสี่ยงให้พร้อมเผชิญกับภัยพิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะปัจจุบันปัญหาภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยจัดอยู่ในพื้นที่เปราะบางของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสูง จากการสำรวจพบว่าประชากรไทยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยมีจำนวนมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วม 135 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การจัดการด้านความรู้ความเข้าใจและการเรียนรู้เพื่อการปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยควรดำเนินงานผ่านการบริการวิชาการสู่ชุมชน ในลักษณะบูรณาการทุกภาคีเพื่อสร้างความเข้มแข็ง