กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--มรภ.สงขลา
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ผุดงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ตาลโตนด แปรรูปเป็นสินค้าหลากชนิด หวังเพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่น ห่วงอาชีพทำน้ำตาลฯ ใกล้สูญหาย เหตุรายได้ไม่เพียงพอทำคนออกทำงานนอกพื้นที่ เร่งจับมือท้องถิ่นถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างรายได้ชุมชน
อ.วาสนา มู่สา อาจารย์โปรแกรมวิชาชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการวิจัยปลูก ขยายพันธุ์ และแปรรูปน้ำตาลโตนดในคาบสมุทรสทิงพระ ว่า ดำเนินงานใน 2 กิจกรรมคือ 1. นำน้ำตาลสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น ได้แก่ น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง น้ำตาลปึก ไซรัป น้ำส้มสายชูหมัก ไซเดอร์ (น้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่ม) วุ้นน้ำตาลโตนด พลังงานเชื้อเพลิงเอทานอล และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำเร็จลุล่วงแล้วสู่ชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ องค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง (อบต.รำแดง) อ.สิงหนคร จ.สงขลา และกลุ่มแม่บ้านคลองฉนวน อ.สทิงพระ จ.สงขลา 2. ศึกษาการปลูกขยายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ตาลโตนดด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะนำไปสู่การได้มาซึ่งพันธุ์ตาลโตนดที่ดีต่อไปในอนาคต
อ.วาสนา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่ 1 ได้รับความสนใจและตอบรับจากชุมชน ตลอดจนผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก ภายหลังจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนดถูกถ่ายทอดสู่ชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีความรู้และความเข้มแข็งในเรื่องการผลิตมากขึ้น กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาศักยภาพ เบื้องต้นได้นำบรรจุภัณฑ์ที่ตนออกแบบไปใช้บรรจุน้ำตาลแว่นและน้ำตาลผง แทนการใช้ถุงพลาสติกใสธรรมดา ปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านได้มากขึ้น และได้ติดต่อออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นของกลุ่มแม่บ้านเองแล้ว นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับน้ำตาลโตนด ที่มีศักยภาพตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด โดยมีความประสงค์ให้คณะทำงานของโครงการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน แก้ไขปัญหาการลดลงของแรงงานในกระบวนการผลิตน้ำตาลโตนดสด ทำให้แรงงานกลับมาสู่ท้องถิ่นและท้องถิ่นมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ส่วนผลการดำเนินการวิจัยในกิจกรรมที่ 2 อยู่ระหว่างทดลองเพาะเนื้อเยื่อพืชในสภาวะต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เพราะต้นตาลโตนดเป็นไม้ยืนต้น
"ปัจจุบันอาชีพการทำน้ำตาลโตนดกำลังจะหายไปจากคาบสมุทรสทิงพระ เนื่องจากคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพนี้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น ดังนั้น การนำน้ำตาลโตนดสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย และนำเข้าสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมทำให้มีความต้องการใช้น้ำตาลโตนดในปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำตาลโตนดมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งคนในชุมชนได้เห็นถึงคุณค่าของตาลโตนด ทำให้อาชีพและวิถีชีวิตการทำน้ำตาลโตนดหวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่อาชีพนี้ลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และนำไปสู่การกลับมาอนุรักษ์อาชีพการทำน้ำตาลโตนดให้คงอยู่ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ตาลโตนดโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกตาลโตนดทำให้ได้พันธุ์ตาลโตนดที่ดีและให้ผลผลิตสูง" อาจารย์โปรแกรมวิชาชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ กล่าว
ด้าน นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง กล่าวว่า โครงการของ มรภ.สงขลา มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนกำลังต้องการนักวิชาการมาแนะนำ และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ตกลงทำความร่วมมือกับโครงการฯ จากสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่าง มรภ.สงขลา โดยจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำตาลโตนดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงวางแผนร่วมกันในการพัฒนาการแปรรูปน้ำตาลโตนดสดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยคาดหวังร่วมกันว่าจะสามารถเพิ่มแหล่งแปรรูปน้ำตาลโตนดสด ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีพื้นที่ปลูก และจำนวนต้นตาลโตนดเพิ่มมากขึ้นด้วย