กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรวางเป้าหมายการดำเนินงานในการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืช (GAP พืช) ปี 2561 ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร พร้อมชูโรง ระบบฐานข้อมูล GAP Online และ Organic Online เพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ในการรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืช (GAP พืช) ในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP จำนวน 15,000 ราย ใน 67 จังหวัด บนพื้นที่แปลงใหญ่ทั้งหมด 428 แปลง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาระบบ GAP Online เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยเกษตรกรที่ต้องการขอรับการรับรองมาตรฐาน GAP เข้ามายื่นคำขอ ณ สำนักงานเกษตรทั่วประเทศ แล้วกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำการเพิ่มข้อมูลเกษตรกรเป้าหมายลงในระบบ แล้วจึงดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เพื่อเตรียมการเข้ารับการประเมินแปลงเบื้องต้น เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้รับข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ จะสำรวจพื้นที่เพื่อทำการตรวจแปลง เมื่อมีการประเมินผลตามเงื่อนไขแล้วเสร็จ จึงแจ้งผลการประเมินในระบบ และกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถนำข้อมูลผลการประเมินดังกล่าว แจ้งต่อเกษตรกรว่าได้รับการรับรอง GAP หรือไม่ หากไม่ได้รับการรับรองเนื่องจากดำเนินการไม่ถูกหลักในข้อปฏิบัติใด จะได้ทำการแก้ไขในปีต่อไป ทั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในระบบได้ทันที ลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน และความล่าช้าของเอกสาร นอกจากการพัฒนาระบบ GAP online แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้พัฒนา ระบบ Organic Online เพื่อรองรับการทำงานในอนาคตต่อไป
สำหรับการรับรองแหล่งผลิตตามระบบ GAP ในปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP จำนวน 34,090 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด เป็นแปลงเกษตรกรเป้าหมาย MOU (ไม้ผล มันฝรั่ง พืชผัก สับปะรด กล้วยไม้ สมุนไร ชา กาแฟ) จำนวน 12,886 ราย ผ่านการตรวจรับรองแล้ว 12,701 ราย รวมทั่วประเทศแล้ว เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP จำนวน 34,090 ราย คิดเป็น 95.94 % โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่เกษตรกรไม่ผ่านการตรวจรับรอง เนื่องมาจาก การถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินไม่ตรง พืชอายุสั้น ไม่ทันต่อการตรวจรับรอง เป็นเกษตรกรรายเดิมที่มีชื่ออยู่ในระบบแล้ว และตัวเกษตรกรเองขอยกเลิกการตรวจรับรอง GAP
"การทำให้เกษตรกรได้รับมาตรฐาน GAP จะเป็นแนวทางการทำการเกษตรที่จะส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกร และผู้บริโภค และการทำระบบ GAP Online มาเป็นเครื่องมือ จะทำให้การทำงานเกิดความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม