กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ไทยออยล์
วันที่ 26 ธันวาคม 2560: สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2560 และคาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2561
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2560
ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2559 ที่ 41.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากตลาดเข้าสู่ภาวะขาดดุลในปี 2560 ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ตกลงจะขยายระยะเวลาในการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน มี.ค. 61 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตสามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ใกล้เคียงตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันที่แข็งแกร่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งแรงหนุนแก่ตลาด โดยอุปสงค์น้ำมันโลกขยายตัวกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 97.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานพลังงานสากล - IEA เดือน พ.ย. 60) จากแรงขับเคลื่อนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมถึงแรงหนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่จูงใจให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตนำโดยกลุ่มโอเปก ที่จะปรับลดปริมาณการผลิต และผลักดันตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุลจะยากขึ้น นับเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของกลุ่มโอเปกหรือ "OPEC's Dilemma" เมื่อราคาน้ำมันดิบที่เริ่มฟื้นตัวจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งเห็นได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จากระดับต่ำสุดที่ 316 แท่น ในเดือน พ.ค. 59 สู่ระดับ 751 แท่น (ณ วันที่ 8 ธ.ค.60) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ - EIA เดือน พ.ย. 60) นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่คลี่คลายลงในไนจีเรียและลิเบีย ซึ่งได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ได้ฟื้นตัวและปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 4 แสนบาร์เรล และ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ไนจีเรีย และลิเบีย ที่เพิ่มขึ้นได้ทดแทนอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากตลาดโลก และเกิดเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบเกิดภาวะล้นตลาดอีกครั้ง
ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2561
ในปี 2561 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2560 และเคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 98.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (IEA เดือน พ.ย. 60) จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั่วโลก (Synchronized Economic Growth) ทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่ต้องการปรับลดปริมาณการผลิตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่หนุนราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตรวมกันราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 เป็นสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 61 โดยตั้งเป้าหมายในการลดน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Stocks) ให้กลับมาอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ให้ได้ ในขณะที่ไนจีเรียและลิเบียตกลงที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงนี้ด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ ทั้งสองประเทศได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศอิรัก เวเนซุเอล่า ลิเบีย และไนจีเรีย รวมถึงการรวบอำนาจของมกุฎราชกุมารของซาอุดิอาราเบีย และสงครามระหว่างซาอุดิอาราเบียกับอิหร่านที่มากขึ้น นับเป็นความไม่แน่นอนของตลาดที่ต้องจับตามองในปี 2561 ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเข้าสู่สมดุลของตลาดน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับความเสี่ยง โดยตลาดอาจกลับมาประสบกับภาวะอุปทานล้นตลาดอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (IEA เดือน พ.ย. 60) ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานส่วนเกินเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น และทำให้ความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบที่จะผลักดันตลาดให้เข้าสู่ภาวะสมดุลอาจเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 7 แสนบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (EIA เดือน พ.ย. 60) โดยความกังวลหลักมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ที่เพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เกินจุดคุ้มทุนของราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐฯ ราว 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จูงใจให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากบราซิลและแคนาดาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อุปทานจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้น โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาของอุปทานจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะ Shale Oil จากสหรัฐฯ เป็นปัจจัยเรื้อรังที่สกัดกั้นการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และเป็น OPEC's Dilemma อีกครั้ง เมื่อการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่มีต้นทุนที่สูงเหล่านี้ เข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดได้มากขึ้น