กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชุมชนชาวดำเนินฯ ต่อยอดงานวิจัย นำแนวคิดการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาทดลองทำในพื้นที่ เพื่อช่วยลดการสะสมสารพิษและดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน หลังพบเกษตรกรมีการใช้สารเคมีมากเกินขนาด อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียในคลองดำเนินสะดวก
"น้ำ" ไม่ใช่สิ่งสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนเราเท่านั้นแต่ยังเป็นปัจจัยหลักต่อผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย และเมื่อนึกถึงผลผลิตทางการเกษตร ชุมชน "คลองดำเนินสะดวก" ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตผลไม้หลากหลายที่สำคัญโดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอม มะม่วง กล้วย ชมพู ฝรั่งกิมจู แก้วมังกร องุ่น มะนาว รวมถึงกล้วยไม้หลายหลากพันธุ์ อีกทั้งยังมีตลาดน้ำดำเนินสะดวก สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
ที่นี่จึงเปรียบเสมือนเมืองเกษตรที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)มองว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารได้มากกว่า 176,953 ตันต่อปี แต่กลับพบว่ามีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรอย่างเข้มข้นเกินขนาดเพื่อให้พืชออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกิดสารพิษสะสมทั้งในแหล่งน้ำและดิน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสีย และยังเกิดสารตกค้างในร่างกาย ประกอบกับการเจริญของเมืองทำให้ผู้คนหันมาใช้ถนนแทนการสัญจรทางน้ำ ทำให้คลองขาดการเหลียวแล เกิดปัญหาขยะ และวัชพืชขึ้นมากมาย
นายพิพัฒน์ รุ่งกานต์วิวัฒน์ หรือผู้ใหญ่หมู ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านต้นไทร ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในฐานะนักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่า จากการทำงานวิจัยใน 'โครงการวิจัยการจัดการสวนเกษตรเพื่อความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสียคลองดำเนินสะดวก ในพื้นที่โซนที่ 1' ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ประกอบด้วย ต.หัวโพ , ต.โพหัก , ต.ดอนคลัง , ต.บัวงาม , ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ค้นพบข้อมูลวงจรการทำเกษตรในรอบ 1 ปีว่าในแต่ละการผลิตพืชแต่ละชนิดมีการใช้ทรัพยากรอะไรบ้างและใช้ในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าผลผลิตทางการเกษตรของคลองดำเนินสะดวกส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเคมีมากเกินขนาด เช่น มะม่วง มีต้นทุนการใช้เคมีในการผลิตถึงร้อยละ 57 ขณะที่ต้นทุนการใช้เคมีในการผลิตมะนาวสูงถึงร้อยละ 77 ส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำ ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ตระหนักถึงปัญหาเรื่องน้ำเสียที่เกิดจากสวนของตนเอง
"งานวิจัยนี้จึงต้องการปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักให้กับชุมชนเห็นถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีและให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำไม่ให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียซึ่งจะส่งผลต่อน้ำใช้ในภาคการเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องของภาวะน้ำแห้งคลองทำให้เกิดปัญหาไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงแปลงเกษตรส่งผลให้พืชมีผลผลิตน้อยและหลายต้นยืนต้นตาย รวมทั้งยังประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ทั้งสิ้น จึงเกิดแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีในชุมชนลง"
ผู้ใหญ่หมู กล่าวอีกว่า จากผลการทำวิจัย ทำให้มีแนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำเสียและลดสารพิษสะสมในคลองดำเนินสะดวก รวมถึงช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมเล็กๆให้กับแหล่งน้ำของชุมชนได้ แต่ยอมรับว่าการจะให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีและหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดอาจเป็นไปได้ยาก เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของการทำการเกษตรของชุมชนคลองดำเนินสะดวก แต่อย่างน้อยเพื่อให้ชุมชนรู้จักเรื่องเกษตรอินทรีย์และนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดหรือไปปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆเอาไว้ทานกันเองในครัวเรือน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้จัดทำศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงวัดบัวงามอารามหลวง โดยใช้พื้นที่ของวัดฯ จำนวน 60 ไร่ มาพัฒนาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบแห่งแรกของชุมชนคลองดำเนินสะดวก เพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ของชุมชนจากเดิมที่ชาวบ้านไม่เคยรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ โดยมีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาทดลองปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีภายในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และนำวิธีไปทำเองได้ที่บ้านต่อไป
" การจะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย หรือเลิกใช้เคมีทันทีนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เราต้องให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับชุมชนก่อน โดยเริ่มจากการลงมือทำให้เห็นสนับสนุนให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมและทดลองทำ แรกๆ ก็ถูกต่อต้าน แต่หลังจากทำมา 1 ปี ปัจจุบันเริ่มมีคนในชุมชนรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์บ้างแล้ว มีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชม มีโรงเรียนในพื้นที่และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)จังหวัดราชบุรี นำนักเรียนและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำนา เข้ามาร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ และการทำสวนอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมนาโยน การลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งการนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเกษตรอินทรีย์ และยังช่วยเชื่อมโยงผู้ปกครองที่เป็นเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง จะเห็นว่าสิ่งที่เราทำกันในวันนี้ เพื่อต้องการสื่อให้ชุมชนได้เข้าใจว่าเพียงแค่การได้บริโภคข้าวอินทรีย์นอกจากเพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว ส่วนหนึ่งยังช่วยรักษาคุณภาพของคลองดำเนินสะดวกได้อีกด้วย"
สำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงวัดบัวงามอารามหลวง ต้นแบบสวนเกษตรอินทรีย์ของชุมชนคลองดำเนินสะดวกแห่งนี้ มีรูปแบบการจัดทำแปลงเกษตรตามหลักแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากทดลองปลูกพืชไร่นาสวนผสม อาทิ มะพร้าว กล้วย พืชผักสวนครัว การทำนา ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลาแล้ว ยังมีการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งจำนวน 3 บ่อ เป็นบ่อพัก 2 บ่อ บ่อที่ 3 เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดที่สามารถนำไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ถือเป็นแห่งแรกของชุมชนที่มีรูปแบบการทำระบบการจัดการน้ำที่แตกต่างจากพื้นที่สวนของเกษตรกรที่นิยมยกร่องสวน แต่มักประสบปัญหาภาวะน้ำแห้งคลองและน้ำทะเลหนุนอยู่บ่อยครั้ง โดยแนวคิดการขุดบ่อน้ำดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวสวนและคนทั่วไปที่ต้องการทำการเกษตรได้เห็นว่าในแปลงเกษตรจะต้องมีการเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ใช่รอแต่เพียงน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ทางศูนย์เรียนรู้ฯ ยังเตรียมพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าชุมชนเพิ่มอีก 4 - 5 ไร่ ผู้สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงานหรือร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานการทำเกษตรอินทรีย์ได้ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงวัดบัวงามอารามหลวง ตั้งอยู่ตำบลประสาทสิทธิ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี