กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ เผยโครงการสำคัญปี 2561 ของหน่วยงานในสังกัด ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เน้นพัฒนาบริการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนยุคดิจิทัล มอบเป็นของขวัญปีใหม่ สอดรับ "ไทยแลนด์ 4.0"
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในปี 2561 ที่กำลังจะถึงนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการดำเนินการกิจกรรม/โครงการสำคัญต่างๆ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการดำเนินตามตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล ได้แก่ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ "เน็ตประชารัฐ" ครอบคลุมทั้ง 24,700 หมู่บ้าน พร้อมจัดจุดให้บริการ Wi-Fi เพื่อประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหมู่บ้านละ 1 จุด ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐในการส่งเสริมการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน รวมถึงใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ทั้ง การศึกษา การรับบริการทางการแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสถาบันวิชาการทีโอที จัดอบรมหลักสูตร "การพัฒนาวิทยากรแกนนำเพื่อการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ" ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ ให้ความรู้ด้านดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่ "วิทยากรแกนนำ" เพื่อไปต่อยอดให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐและการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนจาก 24,700 หมู่บ้าน สร้างการเรียนรู้ในการใช้ประโยชน์ และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วอย่างรู้เท่าทัน ทั้งนี้ วิทยากรแกนนำเน็ตประชารัฐทั้ง 1,000 คน จะเป็นผู้แทนของกระทรวงดิจิทัลฯ ไปสร้างการรับรู้ให้กับผู้นำหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐ หมู่บ้านละ 4 คน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัคร จปฐ. หรือผู้มีแววที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อในหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งจะสามารถสร้างผู้นำชุมชนให้มีความรู้ได้อีกประมาณ 100,000 คน เพื่อไปขยายผลสร้างความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านเพิ่มเป็น 1,000,000 คน ต่อไป
ด้าน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เดินหน้าสานต่อการดำเนินโครงการเคเบิลใต้น้ำ โดยนำศักยภาพความเชี่ยวชาญในการให้บริการโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่ได้จัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพและเสถียรภาพระบบให้สามารถรองรับปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยและของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย CAT จะสนับสนุนงานสำคัญของรัฐบาลในการยกระดับโครงข่ายระหว่างประเทศของไทยผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างเต็มที่ เพื่อขยายความแข็งแกร่งให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียนได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายตามแผนการและกรอบเวลาที่ได้กำหนด
ในส่วนของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบบริหาร ณ จุดขาย หรือโครงการ Point Of Sale : POS ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในแต่ละจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีระบบบริหารจัดการสินค้าที่มีมาตรฐาน และพร้อมต่อการค้าขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเปิดหน้าร้าน และดูแลหน้าร้านเอง ตลอดจนการรับชำระเงิน พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และยังสามารถลดรายจ่าย เพิ่มตลาด สร้างกลไกนำส่งสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นทั่วไทยและทั่วโลก โดยจะติดตั้งระบบดังกล่าวครอบคลุม 10,000 จุดทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2561 และจะมีสินค้าของผู้ประกอบการเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 50,000 รายการ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า/DEPA) มอบโอกาสทางธุรกิจให้นักศึกษาไทย 1,000 ราย ก้าวสู่เส้นทาง Digital Startup ด้วย DEPA Startup Voucher มูลค่าถึงรายละ 50,000 บาท DEPA Startup Voucher เป็นการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนในลักษณะของเงินให้เปล่าในรูปแบบของ "บัตรอุดหนุน (DEPA startup voucher)" มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อดำเนินการจัดทำแผนของโครงการโดยละเอียด นักศึกษาที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการและขอเข้ารับการพิจารณาได้กว่า 1,000 ราย ผู้ที่ผ่านการพิจารณาร่วมโครงการจะได้รับ DEPA Startup Voucher มูลค่ารายละ 50,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของ DEPA Digital Literacy voucher สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และผู้พิการ ที่ต้องการ Up-Skill/Re-Skill เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพความสามารถด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถทดสอบประเมินเพื่อได้รับประกาศนียบัตรระดับสากล มูลค่าไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ ชื่อว่า "TMD Smart Simulation" หรือ "TMD SMART SIM" โดยเป็นผลผลิตจากโครงการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (HPC) สามารถดาวน์โหลดการใช้งานได้ทั้งระบบ Android ที่ Google Play และ ระบบ IOS ที่ App Store สำหรับแอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะแสดงข้อมูลการพยากรณ์อากาศ แบบ real-time จากผลการตรวจอากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 126 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว เกษตรกรรม ประมง และข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Wi-Fi เพื่อให้บริการประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ณ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 จุด ให้บริการ ด้วยอัตราความเร็วการรับส่งข้อมูลไม่น้อยกว่า 100/25 Mbps และมีช่องทางในการสื่อสาร และการเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลแก่ ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ผ่านทางแอปพลิเคชั่น "Phuket Smart City" ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว ถือว่าอยู่ในโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 สดช.ยังได้เปิดตัวโครงการ Stop Cyber Bullying โดยเป็นเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือประชาชนเพื่อรับมือภัยมืดจากโลกออนไลน์ และเป็นช่องทางการสร้างทักษะความฉลาดรู้ เท่าทันและใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และมีจริยธรรมรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีโครงการที่เป็นความร่วมมือในระยะต่อไป
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้จัดทำแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ชื่อ "ThaiStat" เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดที่สำคัญของประเทศ และของจังหวัดต่างๆ ในรูปแบบที่ "เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย และเข้าใจง่าย" มีการนำเสนอข้อมูลสถิติในรูปแบบที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ (interactive) และมีความหลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถิติ สามารถเข้าใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งแอปพลิเคชัน ที่พัฒนาขึ้นตอนนี้ เป็นการพัฒนาบนระบบปฏิบัติการ Android ผ่าน Play Store โดยในอนาคตจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนระบบ IOS เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้สมาร์ทโฟน ระบบ IOS ด้วย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.ได้จัดทำ "e-Directory of e-Commerce" เพื่อเป็นทางลัดที่จะช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าจะทำอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว หรือกำลังจะทำ ได้มีคู่มือที่ช่วยให้เข้าถึงบริการภาครัฐและธุรกิจภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย เช่น ด้านการขนส่ง (e-Logistic) ด้านการชำระเงิน (e-Payment) ด้านการตลาดออนไลน์ (e-Marketing) และด้านการบริการครบวงจร (Fulfillment Service) นอกจากนี้ สพธอ. ยังได้ร่วมกับกรมสรรพากร พัฒนาบริการ e-Tax Invoice by Email ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของโครงการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้น เพื่อรองรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี โดยส่งใบกำกับภาษีทางอีเมลไปยังระบบประทับเวลาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Timestamp) ของ ETDA เพื่อประทับเวลาในอีเมลที่แนบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice by Email เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ประกอบการได้ประหยัดเวลา และอำนวยความสะดวกในการจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในยุคดิจิทัล
สำหรับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) พัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านทาง Mobile Application โดยการบันทึกข้อมูลยาที่คนไข้ได้รับจากสถานพยาบาลเก็บไว้ในแอปพลิเคชัน "RDU รู้เรื่องยา" ได้แก่ ชื่อโรงพยาบาลที่ได้รับยา ชื่อยา และข้อมูลฉลากเสริม เป็นต้น และมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยา เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้ รวมถึงใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลยาได้อย่างทั่วถึงและมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดทำข้อมูลและความรู้ด้านยาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แอปพลิเคชันดังกล่าวจัดทำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการโรงพยาบาล ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทำให้มีข้อมูลยาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประเทศ และเกิดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อมูลยา ลดความซ้ำซ้อน และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันจากหน่วยงานภาครัฐที่นำร่องด้าน Health Tech ของเมืองไทย โดยได้ออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านสาธารณสุข จนสามารถสร้างระบบบริหารจัดการเนื้อหา (Content Management System) ให้สามารถรองรับบริการผ่านสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสาร ทุกรูปแบบ นอกจากนี้ EGA ยังมีส่วนในการสนับสนุนบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บริการคลาวด์ภาครัฐ (G-Cloud) เพื่อยกระดับความสามารถด้านการบริหารจัดเก็บข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ รวมถึงการให้บริการศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) เพื่อเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้งาน ให้สามารถเข้าถึงบริการและประโยชน์จากข้อมูลยาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานในสังกัดมุ่งมั่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนการทำงานภายใต้นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ภายใต้กรอบนโยบายการขับเคลื่อนที่กล่าวมา ยังคงต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเป็นผู้นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยภาครัฐเป็น ผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมสนับสนุน เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเอื้อให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การส่งเสริมและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่อไป