กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--พีอาร์ สตอรี่
รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Chulabhorn International College of Medicine : CICM) เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแบลคมอร์ส ประเทศออสเตรเลีย ว่าปัจจุบันการรักษาคนไข้ไม่สามารถใช้ศาสตร์เดียวในการรักษา มีการนำสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิม การฝังเข็มเพื่อการรักษา ที่เรียกว่าการแพทย์แบบผสมผสานเข้ามามีบทบาท แต่ในฐานะ ที่ CICM เป็นสถาบันการศึกษา จะต้องอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจวิธีการรักษาได้ และในส่วนของวิทยาลัยฯ เองมีการจัดการเรียนการสอนในวิชาแพทย์ผสมผสาน ซึ่งเป็นการเปิดสอนแห่งแรกของประเทศ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แบบผสมผสานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น จึงได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแบลคมอร์สที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกล่าว โดยคาดว่าจะมีการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา ความร่วมมือด้านงานวิจัย และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยแบลคมอร์ส บรรยายให้ความรู้กับอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ความร่วมมือจะทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอาหารเสริมของศูนย์วิจัยสมุนไพรทางคลินิกของวิทยาลัย เพราะสถาบันวิจัยแบลคมอร์สมีความชำนาญในเรื่องการใช้สมุนไพรสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แบบผสมผสานมานาน เพราะที่ผ่านมาวิทยาลัยฯมีการทำวิจัยสมุนไพรกับคนไข้หลายชนิด แต่ยังใช้วิธีเดิมในการผลิตคือ การสกัด หรือบด พบว่ามีปัญหาในเรื่องมาตรฐานปริมาณยา ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้สามารถก้าวไปสู่มาตรฐานอีกระดับหนึ่ง
คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ กล่าวต่อว่า มีแพทย์กลุ่มใหญ่สนใจเกี่ยวกับการแพทย์แบบผสมผสาน แต่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สมุนไพร หากสามารถรวบรวมองค์ความรู้และทำให้ได้ตามมาตรฐาน เชื่อว่าจะมีแพทย์สนใจเพิ่มขึ้น เพราะสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นยามีฤทธิ์อ่อนเหมาะกับผู้สูงอายุ และรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรเช่นกัน
ด้านดร.เลสลีย์ บราวน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแบลคมอร์ส กล่าวว่า สถาบันวิจัยแบลคมอร์ส มีเป้าหมาย 3 ประการ คือการให้ความรู้ การวิจัย และการหานวัตกรรมใหม่ๆ โดยที่ผ่านมามีทั้งการศึกษารวบรวมข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ การลงทุนด้านการวิจัยแบบทดลองทางคลีนิค การร่วมกับสถาบันเพื่อการศึกษาและค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศออสเตรเลียและประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ดังนั้นการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ สถาบันฯ เชื่อว่าการทำงานร่วมกับสถานศึกษาชั้นนำของแต่ละประเทศจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ของประเทศนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือกับแต่ละสถานศึกษาจะขึ้นอยู่กับความชำนาญและความพิเศษของแต่ละแห่ง ซึ่งกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เป็นสาขาแพทย์ทางเลือกรูปแบบใหม่ ที่แพทย์มีองค์ความรู้หลายอย่าง จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันวิจัยฯ ที่จะทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แบบผสมผสานเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย