กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัด สุราษฎร์ธานีลงไป ระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในระยะนี้ เนื่องจากมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพัดผ่านภาคใต้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนภัยต่างๆจากหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้ศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ. จังหวัด แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และกำชับมิสเตอร์เตือนภัยให้ติดตามสถานการณ์ดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 6 -10 พฤศจิกายน 2550 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 — 3 เมตร อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่มขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ราบเชิงเขา และที่ใกล้ทางน้ำไหล และเพื่อเป็นการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากพบว่ามีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมง หรือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน สีของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา มีเสียงดังผิดปกติดังมาจากภูเขาและ ลำห้วย รวมทั้งมีประกาศแจ้งเตือนภัยให้รีบขนย้ายทรัพย์สินไว้บนที่สูงและอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทันที สำหรับผู้ที่เดินเรือควรงดออกจากฝั่งในช่วงที่มีคลื่นลมแรง เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น กรม ปภ. ได้สั่งการให้ศูนย์ ปภ.เขต และสำนักงาน ปภ. จังหวัดในพื้นที่ 11 จังหวัดเสี่ยงภัยออกประกาศเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบและเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที กำชับมิสเตอร์เตือนภัยให้ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนเตรียมพร้อมอุปกรณ์ เช่น ไซเรนมือหมุนสำหรับแจ้งเตือนประชาชน ยานพาหนะ รถบรรทุกให้พร้อมใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทันที โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว หากตรวจสอบพบว่ามีความเสี่ยงภัยสูงให้สั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ประสานให้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืชจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยแก่นักท่องเที่ยว หากพบเหตุผิดปกติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป