สสปน. หนุนธุรกิจการจัดประชุมต่อเนื่อง ดึงสองงานยักษ์ 15th IT&CMA /10th CTW และ 46th ICCA Congress & Exhibition สู่เมืองไทย

ข่าวท่องเที่ยว Thursday September 27, 2007 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ต่อยอดความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์จากทั่วโลก
ประเทศไทยรุกคืบอีกขั้น โชว์ความพร้อมเป็นศูนย์กลางของเอเชียด้านการจัดประชุม สัมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล นิทรรศการ และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือ ไมซ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. ซึ่งเป็นองค์กรหลักของรัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยสู่ระดับนานาชาติ ล่าสุดดึงงานประชุมและนิทรรศการระดับโลกของผู้ประกอบการธุรกิจการจัดประชุมเข้าสู่ไทยถึง 2 งาน ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นปลายเดือนตุลาคมนี้
การประชุม ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 จะจัดขึ้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27 ถึง 31 ตุลาคม ณ ศูนย์ประชุม PEACH โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท และเพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานคร ยังจะเป็นเจ้าภาพการนิทรรศการและการประชุม Incentive Travel & Conventions, Meetings Asia (IT&CMA) ครั้งที่ 15 และ Corporate Travel World (CTW) Asia-Pacific ครั้งที่ 10 ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนต์ชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมอันทันสมัยและเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ล่าสุดของประเทศ ในระหว่างวันที่ 23 ถึง 25 ตุลาคม 2550
คุณขวัญชัย โหมดประดิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการ สสปน. เปิดเผยว่า ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 และงาน IT&CMA ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นควบคู่กับงาน CTW Asia-Pacific ครั้งที่ 10 หลังชนะการประมูลที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย โดยความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลงานที่ สสปน. ได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการประชุมของประเทศไทยสู่ระดับสากล
“ความสำเร็จของ สสปน. ในการทุ่มเทประสานงานจนประเทศไทยชนะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 และ IT&CMA ครั้งที่ 15 พร้อมด้วยงาน CTW Asia-Pacific ครั้งที่ 10 เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการยอมรับของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพงานประชุมและงานไมซ์ระดับโลก และงานประชุมและนิทรรศการทั้งสองงานนี้ จะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นหากได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในประเทศ ที่จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีในต้อนรับผู้ร่วมร่วมงานจากประเทศต่าง ๆ อย่างอบอุ่นและร่วมให้การสนับสนุนงานอย่างเต็มความสามารถ เพราะความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับการประชุมและนิทรรศการทั้งสอง จะเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพและความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก” คุณขวัญชัยกล่าวเสริม
งาน ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 เป็นการประชุมประจำปีนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่บุคคลากรในธุรกิจการจัดประชุม ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงบุคคลากรรุ่นใหม่ในธุรกิจการจัดประชุมจากทั่วภูมิภาคเอเชียจะได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอความคิดเห็นเพื่อศึกษาแนวทางใหม่ ๆ และกำหนดทิศทางในการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมการจัดประชุม พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการและบุคคลากรในอุตสหากรรมการจัดประชุมด้วย
การประชุมนานาชาติประจำปีครั้งนี้จะประกอบด้วยส่วนของการประชุมสัมมนาเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้แก่บุคคลากรและผู้ประกอบการธุรกิจการจัดประชุมจากทั่วโลก ให้มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี่อย่างถ่องแท้ และยังเป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันมุมมองใหม่ ๆ ในการบริหารสถานที่ประชุม ตลอดจนการจัดประชุมและนิทรรศการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ
คุณสุประภา โมฬีรตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเริมการจัดประชุม สสปน. กล่าวว่า “ในการเป็นเจ้าภาพงาน ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 นี้ สสปน. ยังได้จัดให้มีการประชุมย่อยระดับนานาชาติขึ้นอีก 2 งาน คือการประชุม Asia’s Meetings Industry Summit: Challenges and Opportunities in the Next Decade ในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 และ งาน Young professional Conference 2007 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 ถึง 31 ตุลาคม 2550 นี้ ณ โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา”
การประชุม Asia’s Meetings Industry Summit เป็นการประชุมระดับสุดยอดที่ผู้บริหารระดับสูงจากในอุตสาหกรรมการจัดการประชุมจะได้พบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมการจัดการประชุมในเอเชีย ตลอดจนเป็นเวทีที่จะนำไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้เอเชียเป็นศูนย์กลางของการจัดการประชุมในระดับนานาชาติ และที่สำคัญ การประชุมนี้จะมุ่งหาข้อสรุปที่จะเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจการจัดการประชุมในเอเชียให้เติบโตขึ้นอีกขั้น วิทยากรผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยตัวแทนระดับอาวุโสจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจัดประชุม เช่น หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลการท่องเที่ยวและการจัดการประชุม ธุรกิจสถานที่จัดการประชุม ผู้จัดการประชุม และนักวิชาการจากหลากหลายประเทศและเขตปกครอง ทั้งออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย
“ในขณะที่การประชุม Asia’s Meetings Industry Summit เป็นการประชุมสำหรับบุคลากรระดับอาวุโส แต่เราก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างรากฐานที่มั่นคงในอุตสาหกรรมด้วยการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต จึงได้จัดให้มีการประชุม Young professional Conference 2007 ขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยการประชุมนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่บุคคลากรรุ่นใหม่ในเอเชียจะได้พบปะกับปรามาจารย์ในวงการจัดการประชุม เนื่องจากวิทยากรที่จะมาร่วมอภิปรายในการประชุมสุดยอดเอเชียจะเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงานประชุมของบุคคลากรรุ่นใหม่ด้วย นอกจากนี้ ผู้ร่วมประชุมยังจะได้พบปะกับเพื่อน ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันจากหลากหลายประเทศในเอเชีย” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเริมการจัดประชุม กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ICCA Congress & Exhibition ครั้งที่ 46 แล้ว ประเทศไทยยังได้มีการเตรียมจัดงานการประชุมและนิทรรศการ IT&CMA ครั้งที่ 15 และงาน CTW Asia-Pacific ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 23 — 25 ตุลาคม 2550 ณ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นงานที่ช่วยประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชียได้เป็นอย่างดี
งาน IT&CMA และ CTW ที่จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของ สสปน. จะเป็นเวทีเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ในประเทศได้เปิดตัวและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของตนสู่ตลาดไมซ์จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการในเมืองไทยจะได้แนะนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ในประเทศไทยแก่กลุ่มผู้ซื้อกว่า 500 ราย และสื่ออุตสาหกรรมไมซ์จากนานาประเทศอีกกว่า 100 สื่อ
นอกจากจะเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวแล้ว งาน IT&CMA และ CTW ยังประกอบไปด้วยการประชุมสัมมนาย่อยที่จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นประเทศเจ้าภาพ เช่น การบินไทย และ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยมี สสปน. ร่วมส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมไมซ์ในเอเชีย
ในส่วนของการกระตุ้นให้มีผู้เข้าร่วมงาน ITCMA & CTW Asia-Pacific จากต่างประเทศมากขึ้น คุณมาลินี กิตะพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สสปน. ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการคัดเลือกผู้ซื้อที่มีคุณภาพ
“งาน ITCMA & CTW ที่จัดขึ้นที่พัทยาเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางทีมงานของเราได้คัดเลือกผู้ซื้อคุณภาพอย่างพิถีพิถัน และยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีผู้ซื้อรายใหม่ ๆ เข้าร่วมงานด้วย ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ร่วมแสดงผลิตภัณฑ์และบริการในงาน จากการที่ผู้ร่วมงานเหล่านี้ได้มีโอกาพบปะเจรจากับผู้ซื้อรายใหม่ที่มีกำลังซื้อจริง และในส่วนของผู้ซื้อที่มีความคุ้นเคยอันดีกับประเทศไทยอยู่แล้ว ยังได้เดินทางมาร่วมงานด้วยตนเองเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่า งาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific เป็นงานใหญ่ที่จะพลาดไม่ได้สำหรับผู้คนในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยในงานครั้งที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก” คุณมาลินีกล่าว
นอกจากนี้ สสปน. ยังได้บรรลุข้อตกลงกับ บริษัท ทีทีจี เอเชีย มีเดีย จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ ในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2555 โดยประเทศไทยชนะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ด้วยการล้มคู่แข่งจาก 4 ประเทศในเอเชีย จากการที่ สสปน. ได้เสนอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการจัดงาน อาทิ ในด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ และการคัดสรรเฉพาะบริการคุณภาพสูงให้กับตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุม เป็นต้น
“การที่ประเทศไทยสามารถชนะการประมูลในครั้งนี้ได้ เป็นเพราะปัจจัยบวกหลาย ๆ ปัจจัยที่เป็นผลมาจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันของผู้ประกอบการไมซ์ในเมืองไทย กล่าวโดยรวมคือความร่วมมืออันแน่นแฟ้นในการฟูมฟักอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคนี้ให้เติบโตขึ้น และทาง สสปน. จะยังคงสานต่อการสร้างโอกาสในและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป” คุณมาลินี กล่าวเสริม
คุณขวัญชัย โหมดประดิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการ สสปน. กล่าวปิดท้ายถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย ตลอดจนบทบาทของ สสปน. ว่า “ช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จนนำไปสู่การก่อตั้ง สสปน. ขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นองค์กรหลักที่จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สสปน. เป็นองค์การที่สะท้อนถึงพันธกิจระยะยาวของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการส่งเสริม การพัฒนา และการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนีโทร 0-2694-6000 Ext. 6091 หรือ 08-1840-4701
อีเมล์l: parichat_s@tceb.or.th
คุณอริสรา ธนูแผลง โทร 0-2694-6000 ต่อ 6092 หรือ 08-1561-4745
อีเมลล์ : arisara_t@tceb.or.th
เจดับบลิวที ประเทศไทย :เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์ คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์ โทร. 0-2204-8221 หรือ 089-127-2089
อีเมล์l: wongchan.tangsongsak@jwt.comคุณญาดา ศรีสัมมาชีพ โทร. 0-2204-8214 หรือ 08-4640-0058
อีเมล์ : yada.srisammasheep@jwt.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ