ปภ. แนะวิธีป้องกันอันตรายจากการใช้รถหัดเดิน

ข่าวทั่วไป Thursday October 4, 2007 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนอันตรายจากการใช้รถหัดเดิน อาจทำให้เด็กโดนน้ำร้อนลวก จมน้ำ และได้รับบาดเจ็บในลักษณะฟกช้ำดำเขียว หัวโน หรือหัวแตกได้ แนะผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นรถหัดเดินเพียงลำพัง ตลอดจนจัดสถานที่เล่นรถหัดเดินอย่างปลอดภัย พร้อมอ่านคำแนะนำและวิธีใช้อย่างละเอียดก่อนนำไปใช้งาน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองมักนิยมให้เด็กอายุประมาณ 5 — 6 เดือน หัดเดินโดยใช้รถหัดเดินมากขึ้น ด้วยความเข้าใจที่ผิดว่ารถหัดเดินจะช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกายและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมได้เร็วขึ้น แต่หากไม่รู้วิธีใช้อย่างถูกต้องก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากการใช้รถหัดเดินของเด็ก ดังนี้ รถหัดเดินเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว
จนอาจทำให้เด็กวิ่งไปชนโต๊ะที่วางกาน้ำร้อนหรือไปกระชากสายไฟฟ้าของกาต้มน้ำ ทำให้โดนน้ำร้อนลวก ผู้ปกครองควรระมัดระวังไม่ให้เด็กอยู่ใกล้โต๊ะที่วางกาน้ำร้อนและปลั๊กไฟ ตลอดจนจัดสถานที่ให้เด็กเล่นรถหัดเดินอย่างปลอดภัย เช่น ให้เด็กใช้รถหัดเดินบนพื้นเรียบ หากเป็นพื้นลาดชันอาจทำให้รถหัดเดินคว่ำได้ และไม่ควรให้เด็กใช้รถหัดเดินในบริเวณใกล้กับเฟอร์นิเจอร์
ที่มีแง่หรือมุมแหลม เพราะเด็กอาจวิ่งซน จนศีรษะได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ยังพบว่ารถหัดเดินยังเป็นต้นเหตุให้เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ โดยเฉพาะบ้านที่มีสระว่ายน้ำหรือภาชนะกักเก็บน้ำ เช่น บ่อ อ่างน้ำ ถังน้ำ กะละมัง ชักโครก เพราะเด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่เร็ว ทำให้คลาดสายตาจากพ่อแม่ได้ง่าย เด็กอาจคว่ำหรือตกลงในภาชนะเก็บกักน้ำ ทำให้ขาดอากาศหายใจและเกิดภาวะสมองตายได้ นอกจากนี้รถหัดเดินอาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บในรูปแบบอื่นได้ เช่น ฟกช้ำดำเขียว หัวโน
จากการกระแทก เป็นต้น ดังนั้น หากเด็กอยู่ในการหัดเดินผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กเล่นเพียงลำพัง จะเห็นได้ว่า รถหัดเดิน จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก ก่อนที่จะนำรถหัดเดินมาใช้งาน พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษาคำแนะนำและวิธีใช้อย่างละเอียดก่อน ที่สำคัญ หมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของรถหัดเดิน ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ รองรับน้ำหนักของเด็กไหวไหม น๊อตหรือที่ยึดผ้าอุ้มตัวเด็กมีความหนาแน่นเพียงพอหรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหล่น
หรือตกลงมาจากรถหัดเดิน ทำให้ก้นกระแทกจนได้รับอันตราย และควรให้เด็กได้หัดเดินด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ผู้ปกครอง จะทำให้เด็กได้รับความสัมพันธ์ที่อบอุ่นควบคู่ไปกับพัฒนาการในด้านอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ