กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เร่งดำเนินโครงการต่อยอดการใช้ประโยชน์จาก "เน็ตประชารัฐ" หลังทีโอทีติดตั้งแล้วเสร็จครบตามจำนวน 24,700 หมู่บ้าน สนับสนุน ETDA ใช้โครงการ "SMEs Go Online" เพิ่มศักยภาพยกระดับอีคอมเมิร์ซชุมชน ด้านไปรษณีย์ไทย ส่งแอปพลิเคชั่น (POS) เพิ่มความสามารถงานบริหารและการจำหน่ายสินค้า พร้อมดันเครือข่ายสาขาไปรษณีย์ทั่วประเทศ เป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดของประชาชนในแต่ละชุมชน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ "เน็ตประชารัฐ" เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ดำเนินการติดตั้งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ไปยังหมู่บ้านทั่วประเทศที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบริการ ได้ประกาศความสำเร็จในการดำเนินงานติดตั้งครบทั้ง 24,700 หมู่บ้านตามเป้าหมาย แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13,468 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 4,416 หมู่บ้าน ภาคใต้ 3,097 หมู่บ้าน ภาคกลาง 2,084 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก 1,554 หมู่บ้าน กรุงเทพฯ และปริมณฑล 81 หมู่บ้าน
"ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อทุกภาคการดำเนินธุรกิจต่อทุกอุตสาหกรรม ทุกบริการ และมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน วันนี้ประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่มีความตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งตลอดจนความยั่งยืนให้ชุมชน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมให้คนไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ซึ่งกระทรวงฯ ได้การจัดอบรมพัฒนาวิทยากรแกนนำ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพทางการศึกษาจากทั่วประเทศ 1,000 คน เพื่อเป็นแกนหลักของความรู้ นำไปพัฒนาขยายเครือข่ายสู่ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นจำนวน 100,000 คน ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมโยงขยายความรู้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐประมาณ 750,000 -1,000,000 คน ภายในระยะเวลา 1 ปี" รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
จากนั้น ดร.พิเชฐฯ ได้ลงพื้นที่จุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ บ้านหัวแท หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต และการใช้ประโยชน์หลังการติดตั้ง โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการยกระดับ e-Commerce ทั่วประเทศ ซึ่งในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำอีคอมเมิร์ซของไทย ETDA ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาและพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบผลสำเร็จอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือโครงการ "SMEs Go Online" เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับอีคอมเมิร์ซของไทย ด้วยการสร้างความเชื่อมั่น พัฒนากลไก และผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ทั้งเก่าและใหม่ ได้รับความรู้เพื่อการทำอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งระบบออฟไลน์และระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบทเรียนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลไปถึงระดับสากล โดยในปี 2560 สามารถเพิ่มผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซเกือบ 20,000 ราย
สำหรับในปี 2561 ETDA ตั้งเป้าว่าจะผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดออนไลน์อีก 5,000 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ ETDA เข้าไปส่งเสริม ด้วยศักยภาพความพร้อมต่างๆ ที่มี ทั้งในฐานะเมืองรองที่จะโปรโมตการท่องเที่ยว การมีจุดเชื่อมต่อด้านการคมนาคมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ทางหลวงเอเชียสาย 16 หรือ AH16 อีกทั้งยังมีสนามบิน การมีสถาบันการศึกษาทุกระดับ ที่สำคัญคือมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ เช่น กล้วย และข้าวพันธุ์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกหลายประเภทที่เราอาจจะยังไม่รู้จักอีกมากมาย
"การที่มีเน็ตประชารัฐเข้าถึงทุกหมู่บ้าน นอกจากจะเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และมองเห็นโลกกว้างขึ้นแล้ว ยังสามารถทำให้คนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ นำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญา และสินค้าประจำท้องถิ่นที่พวกเขามีออกไปให้โลกภายนอกรับทราบและสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ด้วยการส่งเสริมให้คนในพื้นที่รู้จักการทำอีคอมเมิร์ซ ซึ่งบางส่วนอาจจะทำอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการทำการตลาดออนไลน์หรือองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ในการทำอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร เช่น ระบบชำระเงิน การบรรจุหีบห่อ หรือการส่งของไปยังลูกค้า" ดร.พิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งระบบงานร้านค้าดิจิทัลชุมชน (Point Of Sale : POS) ณ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตบ้านกร่าง ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยโครงการดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯได้มอบหมายให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) พัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับร้านค้าชุมชน และระบบการบริหารงาน ณ จุดขาย (Point of Sale : POS) เพื่อให้ร้านค้าชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารสต๊อกสินค้า การจำหน่ายสินค้า การลงทะเบียนสมาชิก การสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขาย มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระและลดต้นทุนในการจัดเก็บสต๊อกสินค้าของร้านค้าชุมชนได้อีกทาง รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการของชุมชนสู่ตลาดภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนห่างไกลได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการดำเนินโครงการฯ จะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560 ทำการคัดเลือกและพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน ณ จุดขาย (POS) จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2561 เป็นการขยายผลการติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน ณ จุดขาย (POS) จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และระยะที่ 3 – ระยะที่ 5 ปี 2562-2564 เป็นระยะการพัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืน โดยจะขยายผลการติดตั้งระบบงานให้ครบ 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะใช้ศักยภาพของ ปณท ที่มีเครือข่ายสาขาที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง และมีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งมากกว่า 400 เส้นทาง ผนวกกับโครงการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ "เน็ตประชารัฐ" จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการไปนั้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือประชาชนในชุมชนต่างๆ ให้สามารถนำสินค้าออกมาจำหน่าย แข่งขันกับท้องตลาด สร้างเงิน สร้างอาชีพ รวมถึงสร้างความเท่าเทียมกันของคนไทยได้เป็นอย่างดี