กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--บ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนกรุงเทพมหานครต่อเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,248 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 21 - 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อพฤติกรรมของคนกรุงเทพมหานครต่อเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่าจะมีการส่งมอบความสุขปีใหม่ด้วยช่องทางการสื่อสารด้านใด การเลือกซื้อของขวัญปีใหม่เป็นสินค้าประเภทใด สถานที่ที่จะไปฉลองวันปีใหม่ คนที่จะไปร่วมฉลองปีใหม่ การเปลี่ยนแปลงตนเองในปีใหม่ และสิ่งที่จะทำให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นในปี 2561 คืออะไร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไปฉลองเทศกาลปีใหม่ 2561 ร้อยละ 34.1 อันดับที่สองคือเดินทางไปต่างจังหวัด/ต่างประเทศ ร้อยละ 27.6 และอันดับที่สามคือ วัด / สวดมนต์ข้ามปี ร้อยละ 26.0
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมอบสินค้าเป็นของขวัญวันปีใหม่ อันดับแรกคืออาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ร้อยละ 26.0 อันดับที่สองคือช็อกโกแลต คุกกี้ ขนมเค้ก กาแฟ ร้อยละ 23.1 และอันดับที่สามคือ เงินสด / บัตรแทนเงินสด ร้อยละ 15.1
และจะส่งมอบความสุขปีใหม่ผ่านช่องทางการสื่อสารอันดับแรกคือส่งข้อความผ่าน Line ร้อยละ 24.7 อันดับที่สองคือไปพบด้วยตนเอง ร้อยละ 21.3 และอันดับที่สามคือ โทรศัพท์เพื่ออวยพร ร้อยละ 19.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าปีใหม่นี้จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองโดยอันดับแรกคือจะมีการออมเงินให้มากขึ้น ร้อยละ 30.0 อันดับที่สองคือจะมีการออกกำลังกายมากขึ้น ร้อยละ 24.1 และอันดับที่สามคือจะให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ร้อยละ 19.9
และคิดว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้ท่านและคนไทยมีความสุขมากขึ้นในปี 2561 อันดับแรกคืออยากให้คนไทยเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 33.1 อันดับที่สองคืออยากให้คนไทยเข้าใจสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 28.4 และอันดับที่สามคืออยากให้คนในชาติมีความปรองดอง ร้อยละ 25.0