กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมการขับเคลื่อนงาน "ศาสตร์พระราชา สู่โคกหนองนาโมเดล" ภายใต้โครงการลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมมอบนโยบายและบรรยายเรื่อง "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาด้านการเกษตรในระดับพื้นที่"ณ โรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่า โคกหนองนาโมเดลเป็นแนวคิดที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานในด้านการจัดการน้ำและป่า โดยแนวคิดนี้จะช่วยลดพื้นที่ภูเขาหัวโล้น การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนป่าของประเทศไทย พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในการทำเกษตรแนวใหม่ โดยจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่การเกษตร และอาศัยแหล่งน้ำเป็นสำคัญเป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งจ.อุดรธานี ได้เห็นความสำคัญในการทำโคกหนองนาโมเดลมาขยายผลในพื้นที่ โดย จ.อุดรธานีมีแหล่งน้ำชลประทานสำหรับใช้ในการทำการเกษตรเพียง 6% (พื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 4.89ล้านไร่) เมื่อประสบภัยแล้งจึงได้รับผลกระทบด้านการทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมการขับเคลื่อนงาน "ศาสตร์พระราชา สู่โคกหนองนาโมเดล" ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เข้าใจหลักการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในพื้นที่การทำเกษตรของตนเองให้เหมาะสม โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน 400 คน ประกอบด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ปี 2560 ในกลุ่มเอ คือเกษตรกรที่สามารถพัฒนาตนเองสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 และทำเป็นต้นแบบได้ ปราชญ์เกษตร ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ศาสตร์พระราชาถือเป็นตำราแห่งชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรวบรวมหลักการทำงานและวิธีการทำงานที่ทรงทำเป็นตัวอย่างตลอดระยะเวลา 70 ปี อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาภัยแล้งนอกเขตชลประทาน จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรขุดสระน้ำในพื้นที่ของตัวเองในลักษณะหลุมขนมครก เพื่อเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งโดยเกษตรกรสามารถทำเองได้ รวมทั้งชุมชนต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการขุดลอกห้วยหนอง คลอง บึง ต่าง ๆ ไว้รองรับน้ำฝน ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางตามศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีการออกแบบพื้นที่ตามหลัก โคก หนอง นา โมเดล หรือการสร้างหลุมขนมครกตามที่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริไว้เป็นแนวทางการรับมือภัยพิบัติเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนสืบสานศาสตร์พระราชาจะดำเนินการ 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วน ประกอบด้วย 3ระดับ คือ ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 5 กลได้ คือ 1) กลไกการประสานงาน 2) กลไกบูรณาการแผน 3) กลไกการจัดการความรู้ 4) มีนวัตกรรมและสืบสานและ 5) การสื่อสารสู่สังคม และ 7 ภาคส่วน คือ 1) ภาคประชาชน 2) ศาสนา 3) วิชาการ 4)สื่อมวลชน 5) ประชาสังคม 6) ภาครัฐ และ 7) ภาคเอกชน ซึ่งจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนสืบสานศาสตร์พระราชาให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป