กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กสอ.ชู 4 เครื่องมือ 1 กลยุทธ์ เร่งหนุน SMEs ปี'61 ทุ่มงบขับเคลื่อน 1.4 หมื่น ลบ.ช่วยทุกขนาดธุรกิจ
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคนใหม่ โชว์วิสัยทัศน์ 4 TOOL 1 Strategy นำ เอสเอ็มอีไทย ก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ DIP : Transform For SMEs 4.0 วางงบขับเคลื่อน 1.4 หมื่น ลบ. ตั้งเป้าช่วย SMEs ทุกขนาด ทั้งรายย่อยและรายเล็ก ดึงเข้าโครงการเสริมแกร่ง ทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน และไม่ใช่การเงิน มุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง พร้อมดึง 20 บริษัทชั้นนำ อาทิ เอสซีจี ปตท. ฯลฯ เป็นพี่เลี้ยง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว DIP : Transform For SMEs 4.0 ว่า ในปี 2561 กสอ. ได้วางแผนกลยุทธ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด 4 TOOL กับ 1 Strategy ประกอบด้วย 1. TOOL : IT จะให้บริการ ด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ 2. TOOL : Automation การพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 3. TOOL : Robot ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4.TOOL : Innovation เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และอีก 1 Strategy มุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Cluster ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อยอดของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง
โดยมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ในปี 2561 กสอ. ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนภายใต้ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีวงเงินเหลือ ประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs รายจิ๋ว/รายเล็ก (Micro SMEs) ที่มีการประกอบกิจการและขึ้นทะเบียนทางการค้า โดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการกำหนดเกณฑ์และกรอบการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ ส่วนวงเงินที่เหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปปรับปรุงกิจการและพัฒนาธุรกิจ มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 1% เช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จะได้รับ คูปองเสริมแกร่งธุรกิจวงเงิน 30,000 บาทต่อราย เพื่อนำไปใช้บริการด้านการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเครือข่ายทั่วประเทศ
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน กสอ. จะดำเนินโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริม SMEs วงเงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณประจำของ กสอ. ในปีงบประมาณ 2561 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้ง SMEs และ OTOP จำนวนกว่า 50,000 ราย และคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้กว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กสอ. ยังเตรียมเร่งดำเนินการขับเคลื่อน "มาตรการพิเศษ SMEs สู่ 4.0" ภายใต้แผนงานของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 มาตรการ ทั้งในด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs ไม่ว่าจะเป็นการขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) จำนวน 23 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการ ด้าน Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการปรึกษาเชิงลึก ผ่าน Expert Pool (ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ) เป็นต้น การบูรณาการศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) 248 แห่งทั่วประเทศ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลที่มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาธุรกิจในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางด้านข้อมูลผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ SMEs ต่อไปด้วย
ด้านการพัฒนาขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยกลไกประชารัฐ จะมุ่งเน้นการ เชื่อมโยงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ SMEs ในรูปแบบ Big Brother เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นนำไปสู่การมีแนวคิดการทำธุรกิจแบบสากล พร้อมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมทั้งกองทุนแบบให้เปล่า (Angel Fund) ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการใช้แพลทฟอร์ม T-Goodtech (ระบบเชื่อมโยงธุรกิจ และผู้ประกอบการไทย) เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ – ปลายน้ำกว่า 1,400 ราย พร้อมเชื่อมต่อไปยังแพลทฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ สินค้า SMEs ไทยมีความน่าเชื่อถือและขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น
ขณะที่มาตรการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) จะมีการเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV โดยตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้าน CIV อีก 11 แห่ง จากที่นำร่องไปแล้ว 9 แห่ง และคาดหวังที่จะดำเนินการให้ครบ 67 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน (OTOP) ในปี 2565 ได้กว่า 1 แสนล้านบาท
"แผนงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ กสอ. จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานราก" นายกอบชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในปี 2561 เป็นแผนงานต่อเนื่องและเข้มข้น ที่จะสามารถเข้าถึงและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นว่าในปี 2560 กสอ. สามารถดำเนิน โครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการเดิม ได้กว่า 12,000 ราย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอีกกว่า 4,000 กิจการ คิดเป็นมูลค่า ทางเศรษฐกิจสูงถึง 8,000 ล้านบาท