กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างนั้น ทางสำนักงานประกันสังคม มีกองทุนเงินทดแทนคอยให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นไม่เกิน 35,000 บาท หากมีความรุนแรงสามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท แต่ถ้าเข้ารักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล (ในวงเงินที่กำหนด) นอกจากเข้ารักษาในสถานพยาบาลอื่นให้สำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อนแล้วให้มาขอเบิกจากกองทุนภายใน 90 วัน ทั้งนี้ นายจ้างมีหน้าที่ส่งแบบแจ้งการประสบอันตราย กท.16 พร้อมแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล กท. 44 ให้สำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย และหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน (ต้องมีใบรับรองแพทย์) ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าทดแทนเท่าที่หยุดจริงตามใบรับรองแพทย์ โดยเงินค่าทดแทนรายเดือนจะคิดจากร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่หยุดพักรักษาตัวตามใบรับรองแพทย์ โดยได้รับเป็นรายเดือน แต่ต้องไม่เกิน 12 เดือนหรือ 1 ปี
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานมากมาย จึงได้มีประกาศจากกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2550 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามประกาศของกระทรวงแรงงาน แบ่งเป็น 1.โรคที่เกิดขึ้นจากสารเคมี 38 ชนิด เช่น แอมโมเนีย โครเมียม ทองแดง สารกำจัดศัตรูพืช 2.โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพ เช่น โรคหูตึงจากเสียง 3.โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางชีวภาพ ได้แก่ โรคติดเชื้อ หรือโรคปรสิตเนื่องจากการทำงาน 4.โรคระบบหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน 5.โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน 6.โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานหรือสาเหตุจากลักษณะงานที่จำเพาะหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงในสิ่งแวดล้อมการทำงาน 7.โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานโดยมีสาเหตุทั้งหมด 16 สาเหตุ เช่น โครเมียมและสารประกอบของโครเมียม ถ่านหิน ฝุ่นไม้ เป็นต้น และ 8.โรคอื่นๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของลูกจ้างทุกคน และพร้อมที่จะให้การดูแล ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมถือว่าการให้คุ้มครองดูแลเป็นส่วนหนึ่งในการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นของลูกจ้าง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด หรือสายด่วน 1506
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th