กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรรณรงค์ให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์กำจัดโรคและศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี พร้อมพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักพืชให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถผลิตชีวภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2559 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีปีละประมาณ 1.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 20,618 ล้านบาท แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช ประมาณร้อยละ 78 คิดเป็นมูลค่า 9,688 ล้านบาท สารกำจัดแมลง ประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่า 3,899 ล้านบาท และสารกำจัดโรคพืช ประมาณร้อยละ 8 คิดเป็นมูลค่า 4,503 ล้านบาท และสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ ประมาณร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่า 2,487 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการนำเข้าแล้ว สารเคมียังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรโดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) จึงส่งเสริมการผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลการใช้ชีวภัณฑ์สู่เกษตรกรโดยฝึกอบรมการใช้ชีวภัณฑ์และยกระดับมาตรฐานชีวภัณฑ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืชระดับจังหวัด จำนวน 100 คน ให้สามารถผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพเชื้อจุลินทรีย์ที่ศูนย์ดำเนินการผลิต และสามารถให้บริการการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ที่ผลิตโดยหน่วยผลิตในพื้นที่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมดังกล่าวจะถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ และศจช. 1,764 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2561 เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์จากเกษตรกรและลดการใช้การสารเคมีในภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำมาตรฐานชีวภัณฑ์ที่ใช้สำหรับหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร และสร้างระบบตรวจสอบมาตรฐานชีวภัณฑ์ก่อนนำไปให้เกษตรกรใช้กำจัดโรคและศัตรูพืช เพื่อยกระดับคุณภาพของชีวภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐาน ประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์สูงขึ้น สามารถใช้ทดแทนสารเคมีได้ สำหรับชีวภัณฑ์สำคัญที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชและโรคพืชในปัจจุบัน คือ 1. เชื้อบีที 2. เชื้อไวรัสเอ็น พี วี 3. เชื้อราแมลง 4. เชื้อราไตรโคเดอร์มา และ 5. เชื้อราบิวเวอเรีย
อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรสามารถผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้ผู้บริโภคได้รับผลผลิตที่ปลอดภัย ซึ่งในอนาคตแนวโน้มการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะสูงขึ้น เนื่องจากกระแสความต้องการอาหารปลอดสารเคมีจากผู้บริโภคที่ทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น