กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนเอกชน รวมถึงภาคเกษตร เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ร้อยละ 39.7 และ 22.8 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 46.2 และ 15.5 ต่อปี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 4,921 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 51.6 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยองและปราจีนบุรีเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 15.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ระดับ 101.0 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ตรัง พังงา และกระบี่ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ร้อยละ 83.3 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 42.0 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาภูเก็ต พังงา และนครศรีธรรมราช เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ร้อยละ 79.1 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.0 และ 12.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 2,003 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดเพชรบูรณ์ และลำปาง เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.8 และ 5.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ระดับ 80.8 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 69.9 และ 14.2 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.6 และ 20.0 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 13.1 และ 17.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 44.1 และ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.7 และ 6.0 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 81.9 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 46.0 และ 15.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 34.6 และร้อยละ 54.0 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 10.1 และ 11.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 88.7 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยายนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 58.2 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 24.6 และ 43.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 10.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค