กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--กรมประมง
ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยถูกสั่งสอนจากรุ่นสู่รุ่นว่าการปล่อยสัตว์น้ำ ถือเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการให้อิสระกับชีวิตที่ถูกกักขัง ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำตามความหมายที่เชื่อว่าจะช่วยเสริมบุญบารมีและนำสิ่งที่ไม่ดีออกให้ผ่านพ้นไปจากตัวผู้ปล่อย แต่ทว่าจะมีสักกี่คนที่จะคำนึงถึงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ เหล่านั้น ว่าปล่อยลงในแหล่งน้ำแล้วจะไปรุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นหรือระบบนิเวศหรือไม่? หรือปล่อยลงไปแล้วสัตว์น้ำจะสามารถเจริญเติบโตได้นานแค่ไหน? ด้วยเหตุนี้เองกรมประมงจึงมีนโยบายในการสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงวิธีการปล่อยสัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การปล่อยสัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้มีโอกาสในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการปล่อยสัตว์น้ำลงแหล่งน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตในช่วงเทศกาลงานบุญต่างๆ อาทิ วันปีใหม่ของไทย วันเกิด ฯลฯ ขอให้เลือกปล่อยสัตว์น้ำและปลาสายพันธุ์ไทย เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศของบ้านเรา เนื่องจากที่ผ่านมามีสัตว์น้ำบางชนิดถูกนำมาปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น เช่น ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล ปลาดุกบิ๊กอุย เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง ตะพาบใต้หวัน เป็นต้น สัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะก็จะรุกรานสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยโดยตรง จนทำให้ปลาพื้นเมืองของไทยบางชนิดอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้นก่อนที่เราจะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเราก็ควรศึกษากันให้ดีเสียก่อนว่าเราควรจะเลือกปล่อยสัตว์น้ำชนิดใดและจะปล่อยบริเวณไหนให้สัตว์น้ำสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีลักษณะนิสัยและการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับสัตว์น้ำตลอดจนเป็นการร่วมกันดูแลระบบนิเวศของแหล่งน้ำสาธารณะของประเทศ กรมประมงจึงขอแนะนำวิธีเลือกพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปล่อยสัตว์น้ำ ดังนี้
1.ปลาช่อน/ปลาดุกอุย/ปลาหมอไทย/: ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก
มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่งบ้างและน้ำควรเป็นน้ำสะอาด
2.ปลาไหล : ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะและกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย
3.กบ : สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำจะดีกว่า เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลงซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย
4.ปลาสวาย/ปลาบึก/ปลาตะเพียน : ควรปล่อยลงในแม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้ เมื่อโตเต็มที่ จะเป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ดังนั้นจึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
5. คุณภาพของน้ำ: ก่อนปล่อยสัตว์น้ำควรคำนึงถึงคุณภาพน้ำด้วยการสังเกตง่ายๆ เช่น สีของน้ำ
ในแหล่งที่ปล่อยน้ำต้องมีสีไม่ดำหรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้
สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้
6.คุณภาพของสัตว์น้ำ : การปล่อยสัตว์น้ำควรเลือกสัตว์น้ำที่แข็งแรง มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำจะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ
7.เวลาปล่อยสัตว์น้ำ : การปล่อยสัตว์น้ำควรเลือกปล่อยในเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันรองอธิบดีฯ กล่าวตอนท้ายว่า การปล่อยปลาหรือสัตว์น้ำเพื่อสร้างบุญกุศล และเสริมดวงชะตาตามความเชื่อนั้น เราไม่จำเป็นต้องปล่อยที่วัดเพียงอย่างเดียว เพราะสัตว์น้ำบางชนิดที่ไม่สามารถอาศัยอยู่บริเวณหน้าวัด สุดท้ายมันก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ ดังนั้นเราควรเลือกสถานที่ที่เมื่อเราปล่อยสัตว์น้ำเหล่านั้นไปแล้วจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บริเวณสถานที่นั้นๆ ต่อไปได้ ทราบอย่างนี้แล้ว...ต่อจากนี้ไปผู้ใจบุญทั้งหลายที่จะเสริมสร้างบุญกุศลด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ขอให้คำนึงถึงหลักคิดง่ายๆ ก่อนจะปล่อยนั่นก็คือหลัก 2 ป. ป.ปล่อยสัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยแท้ และป.ปล่อยให้ถูกที่ถูกเวลา เพราะสัตว์น้ำบางชนิด จำเป็นต้องอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น