กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"รมช.วิวัฒน์" มอบนโยบายกรมหม่อนไหม หนุนพัฒนาเพิ่ม Smart Farmer และ Smart Officer ด้านหม่อนไหมให้มากขึ้น ยกระดับสินค้าหม่อนไหมให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมปลุกทุกภาคส่วนร่วมสืบสานอนุรักษ์อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่สืบไป
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่กรมหม่อนไหม ว่า ได้มารับฟังแผนการดำเนินงานของกรมหม่อนไหม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการต่อเนื่องในโครงการเดิมที่ดีอยู่แล้ว หากมีสิ่งใดที่ยังไม่สมบูรณ์ให้เติมเต็มให้ครบถ้วน หรือปรับแต่งพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จึงมารับฟังว่าสิ่งใดที่จะสามารถ ต่อ-เติม-แต่ง ได้บ้างในงานด้านหม่อนไหมโดยเฉพาะการต่อยอดพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านหม่อนไหมทุกระดับ รวมทั้งพัฒนนระบบบริหารจัดการสินค้าหม่อนไหม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถรองรับการแข่งขันให้กับสินค้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์ไหมในเวทีตลาดโลก
ดร.วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากที่ได้ประชุมร่วมกับกรมพบว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนในเบื้องต้น มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมทุกระดับให้เป็นสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) ที่มีความรู้ความสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหม่อนไหม 2. ส่งเสริมพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยกระดับเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) ที่มีความเชี่ยวชาญพัฒนาด้านฝีมือ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีผลผลิตที่ดี ซึ่งกลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้มี 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มเกษตรกรผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นเกษตรกรที่มีฝีมือ แต่จะสืบสานงานฝีมือจากกลุ่มนี้ได้อย่างไร จึงต้องพัฒนาให้เกิดกลุ่มที่ 2 นั่นคือ กลุ่มเกษตรกรหม่อนไหมรุ่นหนุ่มสาว ที่ต้องสนับสนุนให้หันมาสนใจสืบสานงานศิลปะด้านหม่อนไหมเพิ่มมากขึ้น เช่นการสร้างทายาทหม่อนไหม และ 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการตลาดโลก
" เอกลักษณ์หม่อนไหมของไทยมีความสลับซ้อนมาก จนต่างชาติตามเราได้ยาก เพราะเรามีรากฐานที่แข็งแรง โดยมีกรมหม่อนไหม ทำหน้าที่ส่งเสริมและสืบสานงานด้านหม่อนไหมให้คงอยู่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศ พร้อมทั้งพัฒนายกระดับสินค้าหม่อนไหมให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เราจะรักษาจุดแข็งนี้ไว้ได้อย่างไร และจะพัฒนาต่อยอดด้านหม่อนไหมนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันสืบสานอนุรักษ์และเผยแพร่เอกลักษณ์งานด้านหม่อนไหมไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกหลาน ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมจะไม่อยู่โดดเดี่ยว แต่จะต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนกับทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และเกษตรกร เพื่อร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมให้เอกลักษณ์ของชาติคงอยู่สืบไป" ดร.วิวัฒน์ กล่าว