กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ธพว.
รมช.อุตสาหกรรม เผยผลการดำเนินโครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ณ สิ้นปี 2560 โดย ธพว. ยอดอนุมัติมูลค่า 6,000 ล้านบาท จำนวนกว่า 1,500 ราย เป็นไปตามเป้าหมาย
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ผลการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ในฐานะหน่วยร่วมดำเนินการ ณ สิ้นปี 2560 สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย มูลค่า 6,000 ล้านบาท จำนวนกว่า 1,500 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีการอนุมัติสินเชื่อกองทุนฯประชารัฐ ตามเป้าจัดสรรรายจังหวัด สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. จ.น่าน วงเงินที่ได้รับจัดสรร 135 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 135 ล้านบาท จำนวน 39 ราย
2. จ.สงขลา วงเงินที่ได้รับจัดสรร 204 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 202.30 ราย จำนวน 42 ราย
3.จ.เชียงราย วงเงินที่ได้รับจัดสรร 186 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 159.42 ล้านบาท จำนวน 41 ราย
4. จ.ภูเก็ต วงเงินที่ได้รับจัดสรร 204 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 162.50 ล้านบาท จำนวน 29 ราย
5. จ.นนทบุรี วงเงินที่ได้รับจัดสรร 204 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 141.05 ล้านบาท จำนวน 23 ราย
6. จ.นครศรีธรรมราช วงเงินที่ได้รับจัดสรร 204 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 135.80 ล้านบาท จำนวน 25 ราย
7.จ.สมุทรสาคร วงเงินที่ได้รับจัดสรร 110 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 72.08 ล้านบาท จำนวน 24 ราย
8.จ.บุรีรัมย์ วงเงินที่ได้รับจัดสรร 186 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ120.09 ล้านบาท จำนวน 43 ราย
9.จ.นครปฐม วงเงินที่ได้รับจัดสรร 204 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 130.17 ล้านบาท จำนวน 30 ราย
และ 10.จ.กระบี่ วงเงินที่ได้รับจัดสรร 186 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติ 116.85 ล้านบาท จำนวน 23 ราย
นายสมชาย เผยด้วยว่า เงินทุนที่อนุมัติผ่านกองทุนฯ ประชารัฐ ซึ่งกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ช่วยพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อย นำไปใช้ยกระดับเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เช่น ปรับปรุงเครื่องจักร และขยายกิจกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตัวอย่างจ.น่าน ซึ่งมีการอนุมัติสินเชื่อได้ 100% เกิดจากการทำงานของเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ภาคเอกชนในพื้นที่ และ ธพว. เป็นต้น รวมถึง ผู้ประกอบการ จ.น่าน นำเงินทุนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งปรับปรุงธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน สู่มาตรฐาน Green Hotel ก่อประโยชน์เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้สูงขึ้น สามารถสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำด้วย