กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- กรมโรงงานฯ ปลื้ม ยอดลงทุน กลุ่ม First S-Curve และ EEC แตะ 3 แสนล้าน มั่นใจ ปี 61 การลงทุนภาคอุตสาหกรรมคึกคัก
กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานเดือนมกราคม-ธันวาคม 2560 มีจำนวน 5,060 โรงงาน ยอดการเติบโตของมูลค่าการลงทุนกว่า 4.96 แสนล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวเป็นยอดลงทุน ในกลุ่ม First S-Curve และ EEC มีมูลค่ารวม 302,852 แสนล้าน โดยปี 2560 5 อุตสาหกรรมที่มีการขอจดประกอบและขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมยานพาหนะและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่ม First S-Curve และ EEC เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ที่อยู่ในโครงการให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างสูงสุด
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการในเดือนธันวาคม 2560 พบว่า มีจำนวนโรงงานที่ขอใบอนุญาตทั้งสิ้นรวมแล้ว 339 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีการขอจดประกอบกิจการใหม่ 299 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 12,757 ล้านบาท และกลุ่มขยายกิจการจำนวน 40 โรงงาน มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,756 ล้านบาท โดยกรอ. ยังได้รวบรวมสถิติการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 12 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,060 โรงงาน แบ่งเป็นการจดประกอบกิจการใหม่ 4,166 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 3.08 แสนล้านบาท และขยายกิจการมีจำนวน 894 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 1.87 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามการขอใบอนุญาตฯ พบว่ามีสัดส่วนที่ลดลง 3% แต่ในส่วนมูลค่าการลงทุนกลับสูงขึ้นจากเดิม 4.82 ล้านบาท เป็น 4.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขอจดประกอบและขยายกิจการใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ และผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์
นายมงคล กล่าวต่อว่า ยอดลงทุน ในกลุ่ม First S-Curve และ EEC มีมูลค่ารวม 302,852 แสนล้าน โดยแบ่งเป็น กลุ่ม First S-Curve ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมมูลค่าการลงทุนรวม 156,582 ล้านบาท ได้ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีจำนวน 949 โรงงาน เงินลงทุน 73,573 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 172 โรงงาน เงินลงทุน 41,752ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 108 โรงงาน เงินลงทุน 35,431 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนชีวภาพ จำนวน 56 โรงงาน เงินลงทุน 2,954 ล้านบาท และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ จำนวน 54 โรงงาน เงินลงทุน 2,872 ล้านบาท
ตลอดจน พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ หรืออีอีซี มีมูลค่าการลงทุนรวม 146,270 ล้านบาท และมีสถิติการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงาน จำนวนสูงถึง 566 โรงงาน โดยแบ่งเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรามีการจดประกอบและขยายกิจการจำนวน 126 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 35,056 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 290 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 21,642 ล้านบาท และจังหวัดระยอง จำนวน 150 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 89,572 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยยังมีศักยภาพในด้านฝีมือแรงงานเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยในปีนี้มีการขยายตัวของความต้องการแรงงานมากถึง 1.99 แสนคน รวมทั้งการปรับตัวของนักลงทุนและผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง นายมงคล กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4076 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th